ไม่หวั่น ปูเสื่อรอ "จีน" ตรวจสวนผลไม้

23 มิ.ย. 2564 | 19:20 น.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไม่หวั่น ปูเสื่อรอ “จีน” สุ่มตรวจสวนทุเรียน มังคุด มะพร้าว ลำไย  พลิกวิกฤติเป็นโอกา สตอกย้ำปลอดจากศัตรูพืช- “โควิด-19” ฟุ้งส่งออกไม่ถึงครึ่งปี 4 ผลไม้ไทย เฉียด 4 หมื่นล้าน .

จากกรณี กรมวิชาการเกษตรได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง แจ้งว่าสำนักงานการศุลกากรจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้มีหนังสือแจ้งขอสุ่มตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ทุเรียน ลำไย มังคุด และมะพร้าวของไทยที่ส่งออกไปจีน ทั้งเรื่องการควบคุมดูแลศัตรูพืชในสวนผลไม้และมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยขอให้กรมวิชาการเกษตรจัดแผนการตรวจประเมินโดยให้มีเจ้าหน้ากรมวิชาการเกษตรปฏิบัติงานจริงให้เห็นในระหว่างการตรวจประเมินผ่านระบบ Zoom

 

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เผยว่า  ทาง กรมวิชาการเกษตร ได้เสนอแผนการตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้ง 4 ชนิดให้จีนพิจารณาตรวจประเมินในช่วงเดือนกรกฎาคมจำนวน 3 สวน 3 โรงคัดบรรจุ  ต่อ 1 พืช  โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุก่อนที่ฝ่ายจีนจะแจ้งผลการพิจารณาแผนการสุ่มตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้ทราบในเร็วๆ นี้

 

. พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ

 

 

นายพิเชษฐ์ กล่าววว่า  นอกจากนี้หน่วยงาน GACC ของจีนยังได้แจ้งให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานกรณีตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 บนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิความเย็นสินค้าตั้งแต่ออกจากแหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค (cold chain) ณ ด่านนำเข้า  โดยหากตรวจพบครั้งที่ 1 และ 2 ระงับการยื่นขอนำเข้า เป็นเวลา 1 สัปดาห์   หากถูกตรวจพบครั้งที่ 3 ระงับการนำเข้าเป็นเวลา 4 สัปดาห์   ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ยืนยันว่าฝ่ายไทยมีการดำเนินการตามแนวทางป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามข้อปฏิบัติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงการย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิตอาหารเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้าและบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด 

.

“ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ในขณะนี้เราต้อง "พลิกวิกฤติเป็นโอกาส" ตอกย้ำให้จีนเชื่อมั่นในมาตรการกำกับดูแลการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยซึ่งมีการบริหารจัดการอย่างเข้มงวดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางโดยเฉพาะพืชทั้ง 4 ชนิดที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกไปจีนมากที่สุด   โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-15 มิถุนายน 2564  ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนแล้วปริมาณ 253,017 ตัน มูลค่า 31,069 ล้านบาท  ลำไยปริมาณ 89,366 ตัน  มูลค่า 3,907 ล้านบาท  มังคุดปริมาณ 20,486 ตัน   มูลค่า 1,651 ล้านบาท   มะพร้าว 61,070 ตัน  มูลค่า 1,176 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกผลไม้ทั้ง 4 ชนิดจำนวนทั้งสิ้น 37,803 ล้านบาท

 

สวนลำไย

 

ดังนั้นเมื่อฝ่ายจีนแจ้งขอตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุทุเรียน  ลำไย  มังคุด  และมะพร้าว  ซึ่งกำลังจะมีผลผลิตทางภาคใต้และภาคเหนือออกสู่ตลาดจำนวนมากในเดือนหน้านี้กรมวิชาการเกษตรจึงตอบรับและจัดทำแผนการตรวจประมินพืชทั้ง 4 ชนิดให้จีนพิจารณา   ซึ่งเรามั่นใจว่าสวนและโรงคัดบรรจุที่กรมวิชาการเกษตรคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของสวนและโรงคัดบรรจุทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร จะผ่านการตรวจประเมินจากจีนไปอย่างไม่มีปัญหาแน่นอน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว