รัฐเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0

03 ส.ค. 2561 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2561 | 20:41 น.
รัฐเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการกล่าวปาฐกถาในโครงการ Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0 ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปฎิรูปเพื่อการพัฒนาอย่างจริงจัง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง แต่ก็เป็นสัญญาณอันดีที่ในปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปีนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น มีแนวโน้มขยายตัวดีสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในทุกภูมิภาค

“ ล่าสุดสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 น่าจะขยายตัวได้ 4.2-4.7% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 3.6-4.6% โดยที่การส่งออกยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามสร้างความสมดุลโดยมุ่งพัฒนาประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ภาคการค้าบริการ และภาคอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่เล็กทรัพยากรมีน้อย และจำกัด รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ เติบโต และแข็งแกร่งไปด้วยกัน”รมช.อุตสาหกรรมกล่าว

ind

“การเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เป็นสิ่งสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งและก้าวทันเทคโนโลยี ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจเอสแอ็มอีในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป นับว่าเป็นโครงการที่ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ โดยดึงศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น”

นายสมชาย กล่าวต่อว่า การเพิ่มมูลค่าสินค้าเป็นเรื่องที่ท้าทายของผู้ผลิต เนื่องด้วยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการด้านคุณภาพ แหล่งเพาะปลูกและการแข่งขันด้านราคาในตลาด การเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรด้วยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์จึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดอิทธิพลจากปัจจัยทางการตลาด อย่างไรก็ดีต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคด้วย ได้แก่ คุณภาพ การแปรรูป ความสดใหม่ ความปลอดภัยด้านอาหาร และการมีสินค้าอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงอุตสาหกรรมประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงิน เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย โดยมุ่งเน้นไปที่ ไมโครเอสเอ็มอี ดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้แก่ 1.การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการให้บริการเครื่องจักรกลาง และพื้นที่ Co Working Space เพื่อให้เอสเอ็มอีมีพื้นที่ในการพัฒนาสินค้าต้นแบบใหม่ๆ รวมถึงการบริการที่ปรึกษาแนะนำเชิงลึก และเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุนต่างๆ 2.โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน เพื่อพัฒนาเสริมความรู้ด้านการเงินทั้งก่อนกู้ และหลังกู้เพื่อให้มีบัญชีที่เป็นระบบ มุ่งเป้าสู่ระบบบัญชีเดียวในอนาคต และ3.SME Standard Up ยกระดับเอสเอ็มอีสู่มาตรฐานที่เหมาะสม โดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) ให้เหมาะสมกับระดับศักยภาพของเอสเอ็มอีและตรงความต้องการของตลาด เริ่มต้นที่กลุ่มสินค้าท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก เป็นต้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ขณะที่มาตรการด้านเงินนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้เตรียมแพ็คเกจสินเชื่อรายย่อยวงเงินรวม 7 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดดอกเบี้ย 3% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 4 ปีแรก และโครงการสินเชื่อแฟคตอร์รี่วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท เป็นต้น

“นโยบายต่างๆของรัฐบาลได้ถูกแปลงมาสู่การขับเคลื่อนอย่างมีกลไกล และครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถที่จะเข้ามาใช้บริการต่างๆ พร้อมนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจของตนเอง เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริหารธุรกิจให้เจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน”รมช.อุตสาหกรรมกล่าว

e-book-1-503x62