ส่งออกปศุสัตว์นิวไฮต่อ

10 ม.ค. 2561 | 18:06 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2561 | 01:06 น.
1.6 k
ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยสดใส คาดปี 2561 ทำนิวไฮพุ่ง 2.2-2.3 แสนล้าน เนื้อไก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เนื้อเป็ดดาวรุ่งนำทีมโตต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รุกครั้งใหญ่เพิ่มส่งออกยุโรป ผู้เลี้ยงหมูร้องผลผลิตล้น ไก่ต้นทุนสูงกระทบแข่งขัน

นสพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยทั้งปี 2560 ว่า คาดจะทำได้ที่ 2.1-2.2 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงสุดนับแต่ส่งออกมา (จากปี 2559 เคยส่งออกสูงสุดที่ 2.0 แสนล้านบาท) ขณะที่ตัวเลขการส่งออกอย่างเป็นทางการช่วง 11 เดือนแรกปี 2560 มีมูลค่ารวม 1.97 แสนล้านบาท ทั้งนี้กรมได้แบ่งการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ออกเป็น 5 กลุ่มโดยช่วง 11 เดือนแรกปีที่ผ่านมามีการส่งออกสูงสุดตามลำดับดังนี้

1.เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปส่งออกมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท (สัดส่วนมากกว่า 50%) 2. อาหารสัตว์เลี้ยง(Pet Food) และอาหารสัตว์ มูลค่า 3.48 หมื่นล้านบาท 3.ซากสัตว์ มูลค่า 3.35 หมื่นล้านบาท 4.อาหาร Non-Frozen เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม รังนกและซุปไก่สกัด นํ้าผึ้ง ไข่และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ เป็นต้น มูลค่า 1.71 หมื่นล้านบาท และ 5.สัตว์มีชีวิต มูลค่า 1.08 หมื่นล้านบาท

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าปศุสัตว์ของไทยส่งออกได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้นในหลายสินค้า อาทิ ไข่ไก่สดและผลิตภัณฑ์ในสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โดยในตลาดเกาหลีเราสามารถเปิดตลาดไก่สดแช่แข็งได้อีกครั้งหลังปลอดไข้หวัดนก นอกจากนี้ยังส่งออกเนื้อเป็ดปรุงสุกไปนิวซีแลนด์ ขณะที่จีนได้อนุญาตให้นำเข้านํ้านมดิบ นมอัดเม็ด รวมทั้งอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์รังนกจากไทยได้อีกครั้ง หลังถูกระงับนำเข้ามานาน 5 ปี”

[caption id="attachment_248249" align="aligncenter" width="503"] นสพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นสพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์[/caption]

อย่างไรก็ดีแม้ในหลายสินค้าสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่ในบางสินค้าส่งออกลดลง อาทิ การส่งออกสุกรมีชีวิตของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านสาเหตุหลักมาจากมีสุกรจากเวียดนามราคาตํ่ากว่ามาขายแข่ง ทำให้การส่งออกสุกรมีชีวิตของไทยปีที่ผ่านมาลดลง 67% หรือมูลค่าการส่งออกหายไปประมาณ 4,200 ล้านบาท กระทบสินค้าสุกรในประเทศโอเวอร์ซัพพลาย ราคาลดลงเกษตรกรขาดทุน ในปี 2561 จึงมีแผนปรับลดปริมาณการผลิตลง 5% ให้เหลือประมาณ 19 ล้านตัว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

นสพ.อภัย ได้คาดการณ์ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยในปี 2561 ว่า คาดจะขยายตัวได้ประมาณ 5% (มูลค่า 2.2-2.3 แสนล้านบาท) โดยสินค้าดาวรุ่งที่การส่งออกจะยังขยายตัวได้ดีได้แก่ ไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ มีปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น และการส่งออกเนื้อไก่ไปยังตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย จะยังขยายตัวต่อเนื่อง จากสินค้าไก่ของไทยได้เปรียบคู่แข่งขันจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล ทั้งคุณภาพและราคา รวมถึงระยะทางการขนส่งไปญี่ปุ่นใกล้กว่า

“การส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ในปีนี้คาดด้านปริมาณจะเติบโต 3% หรือส่งออกได้ 8.1 แสนตัน ส่วนมูลค่าคาดจะส่งออกได้ 1.04 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีตลาดหลักได้แก่ ญี่ปุ่นสัดส่วน 58% และสหราชอาณาจักร 18% ส่วนตลาดใหม่ในกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และยูเออี มีความต้องการเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันสถานประกอบการไทยได้รับการรับรองและสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้แล้ว 11 แห่ง ซึ่งจะตรวจสอบและรับรองเพิ่มขึ้น”

สินค้าดาวรุ่งรองลงมาคือ อาหารสัตว์เลี้ยง คาดจะขยายตัวได้มากขึ้นโดยเฉพาะประเทศจีนที่มีจำนวนผู้สูงอายุ และบุตรหลานที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีน เติบโตถึง 20% ต่อปี เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ ที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง

นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่มีศักยภาพที่กรมไปเปิดตลาดใหม่ได้ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เนื้อเป็ดและผลิตภัณฑ์ คาดปีนี้จะขยายตัวได้ 4% คิดเป็นมูลค่า 2,100 ล้านบาท สินค้านมและผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 2% มูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และสินค้าอาหารสัตว์ และสัตว์เลี้ยง คาดจะส่งออกเพิ่มขึ้น 3% มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกรมยังมีแผนสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ อาทิ โคเนื้อ และโคนม จากตลาดเติบโตทั้งในและต่างประเทศ

น.สพ.อภัย กล่าวอีกว่า กรมมีแผนจะเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ในประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ตลาดสหภาพยุโรป(อียู) จากเดิมไทยสามารถส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกได้อยู่แล้ว แต่ปี 2561 จะขอรับรองการส่งออกเนื้อสุกรปรุงสุก ผลิตภัณฑ์นม ไข่ และผลิตภัณฑ์ไข่ ส่วนตลาดฟิจิ จะเปิดตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ดปรุงสุก และตลาดรัสเซีย และมาเลเซีย จะขอการรับรองโรงงานเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ได้เพิ่มขึ้น

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า สถานการณ์ในขณะนี้ราคาสุกรตกตํ่ามากสุดในรอบ 20 ปี (นับจากปี 2540) เนื่องในหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรเพิ่มการเลี้ยงมากจากราคาจูงใจ เวลานี้ผลผลิตโอเวอร์ซัพพลายถึง 20% วันนี้เกษตรกรต้องปรับตัวเองด้วย ไม่ใช่โทษตลาดอย่างเดียว

เช่นเดียวกับนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า การส่งออกเนื้อไก่ในปี 2561 คาดจะขยายตัวไม่ตํ่ากว่า 2% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเงินบาทแข็งค่า เงินเยนอ่อนตัวส่งผลให้ราคาเนื้อไก่สูงขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตไก่เพิ่มขึ้น จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักคือข้าวโพดราคาสูงอยู่ที่ 9-10 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เทียบกับราคาข้าวโพดของบราซิลซึ่งเป็นคู่แข่งส่งออกเนื้อไก่ที่สำคัญอยู่ที่ 4 บาทต่อกก. เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลายบริษัทกังวลว่าต้นทุนการผลิตไก่เนื้อของไทยสูงกว่าคู่แข่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9