วัฒนธรรมไต ในภาคเหนือของไทย

27 ก.พ. 2566 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2566 | 06:10 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงแหล่งท่องเที่ยวในรัฐฉาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมียนมา ยังไม่ทันจบหมดเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพราะเพิ่งจะพาไปดูได้แค่นิดหน่อยเท่านั้นเอง เพราะในความเป็นจริงรัฐฉานนั้นกว้างใหญ่มาก อีกทั้งชนชาติพันธุ์ในรัฐฉานนั้นมีมากกว่า 20 ชาติพันธุ์ 

แหล่งท่องเที่ยวยังเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์มากๆ จะเรียกว่ายังดิบๆ อยู่ก็ได้นะครับ แต่สิ่งที่ผมอยากให้มอง ในฐานะที่ผมเองได้ไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงรายมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ จนกระทั่งถึงอายุ 19 ปี จึงได้ออกจากเชียงรายไปเรียนต่อที่ไต้หวัน 
             
ตั้งแต่บัดนั้นมา แม้จะไม่ได้ไปอาศัยอยู่ที่เชียงรายประจำนานๆ อีกเลย แต่ก็ได้เป็นลูกเขยเชียงราย และยังมีความผูกพันกับเชียงรายมาโดยตลอด จึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมของแผ่นดินล้านนา ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ลึกซึ้งมากแต่ก็สามารถรับรู้ได้บ้าง

เมื่อเข้าไปทำมาหากินที่ประเทศเมียนมา เริ่มจากรัฐฉานผ่านด่านชายแดนแม่สาย ซึ่งผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ จึงได้เห็นภาพของวัฒนธรรมไต(ไทยใหญ่)ในรัฐฉาน ซึ่งมีอะไรหลายๆ อย่าง ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมล้านนามากๆ จึงขอนำมาเล่าให้อ่านเล่นๆ นะครับ
          
เริ่มจากวัฒนธรรมด้านภาษา แน่นอนว่าคำเมืองของวัฒนธรรมล้านนา มีความคล้ายคลึงกับคำไตหรือภาษาไทยใหญ่เยอะมาก ผมคิดเอาเองในฐานะที่พูดได้ทั้งสองภาษานั้น ว่าน่าจะมีความเหมือนกันมากถึง 70-80% เลยทีเดียวครับ ไม่ว่าการนับเลขที่เหมือนกันทั้งหมด ไม่มีผิดเพี้ยน 

ในทางกลับกัน ภาษาไทยเรา 20 ยังอ่านว่ายี่สิบอยู่ ในขณะที่คำเมืองของไทยและคำไตของเมียนมายังพูดว่า “ซาว” เหมือนกันทั้งสองภาษา หรือคำอีกหลายๆ คำที่คนไตในรัฐฉานใช้ กับคำเมืองก็เหมือนกันเกือบทั้งหมด ดังนั้นคนไตในรัฐฉาน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในบรรดาชนชาติพันธุ์ทั้งหมดของประเทศเมียนมา จึงสามารถสื่อสารกับคนเมืองได้อย่างไม่เคอะเขินเลยครับ

ข้าวซอยน้ำเงี้ยว

 

ด้านความสัมพันธ์ของคนเมืองของไทยกับคนไตในรัฐฉานเอง ก็มีคนเมืองบางส่วนที่มีเชื้อสายของคนไตอาศัยอยู่ในภาคเหนือของเราเยอะมาก เช่น ที่จังหวัดลำพูนและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีชาวไทยเชื้อสายไตยอง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแขนงของไทยใหญ่ เพราะชนชาติพันธุ์ไทยใหญ่ในประเทศเมียนมา มีมากถึงยี่สิบกว่าแขนง ดังที่ผมเคยเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้ไปแล้วนั่นแหละครับ 

หรือที่จังหวัดเชียงรายเอง ก็มีชาวไตลื้อที่บ้านห้วยเม็ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หรือที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (อดีตเชียงคำเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย) ดังนั้นทางด้านความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ จึงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมาก แยกกันไม่ออกเลยครับ 

วัฒนธรรมจึงเป็นไปในรูปแบบที่เหมือนกัน จะมีเพียงทางด้านล้านนาของไทยเรา ที่พัฒนาไปในทิศทางของความเจริญเติบโตของบ้านเมือง การศึกษาที่มีความได้เปรียบกว่าทางพี่น้องคนไตในรัฐฉาน หรือแม้กระทั่งแนวคิดที่จะมีมุมมองต่อโลกในด้านศิวิไลมากกว่าพี่น้องชาวไตในประเทศเมียนมา จึงได้มีวิวัฒนาการที่ล้ำหน้าไปกว่าคนไตในรัฐฉานมากนั่นเอง
       
ด้านวัฒนธรรมการกินก็เช่นกัน เราจะเห็นว่าอาหารการกินที่เป็นอาหารเหนือ(กับข้าวเมือง)ของไทยเรา ก็มีความคล้ายคลึงกับอาหารไตในรัฐฉานเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นข้าวซอยเหนือที่มีทั้งข้าวซอยฮ่อ ข้าวซอยน้ำเงี้ยว และข้าวซอยเชียงใหม่ก็พัฒนามาจากข้าวซอยทางรัฐฉานประเทศเมียนมา ที่ในประเทศเมียนมาเอง 

เฉพาะข้าวซอยก็มีเมนูมากกว่าสิบชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวซอยเชียงตุง ข้าวซอยกระฉิ่น ข้าวซอยลาซิล ฯลฯ แต่เกือบทุกชนิด ก็จะคล้ายคลึงกันทั้งสิ้นครับ แม้ว่าที่ภาคเหนือเราจะมีทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นขนมจีน(หน่มเส้น)ก็ตาม และที่เชียงของจะมีอีกข้าวซอยชนิดหนึ่ง คือข้าวซอยน้ำแจ่ว 

ข้าวซอยน้ำแจ่ว

ในอดีตสมัยที่ผมเป็นเด็ก จะมี “พี่ศรี” ทำขายในตลาดสดอำเภอเชียงของ ที่ไม่เหมือนกับข้าวซอยรัฐฉานเลย เพราะน้ำซุปของข้าวซอยน้ำแจ่ว เขาจะทำเป็นน้ำใสๆ และมี “ข่า” เป็นส่วนประกอบสำคัญ แล้วจะใส่เครื่องในหมู ที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่า จะเอาส่วนไหนของเครื่องในได้ 

ซึ่งถ้าคนที่ไม่เคยทานมาก่อน ก็จะไม่คุ้นเคยกับรสชาติ ซึ่งจะรู้สึกแปลกๆ แต่คนท้องถิ่นที่เชียงของจะชอบทานกันมาก ในส่วนข้าวซอยน้ำแจ่วก่อนหน้านี้ ผมจะไม่ทราบที่มาที่ไปมาก่อน แต่พอผมเริ่มเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเวียดนาม จึงได้เห็นมีขายในกรุงฮานอยกันเยอะมาก จึงถึงบ้างอ้อว่า มาจากวัฒนธรรมการกินของเวียดนามนั่นเอง 

ก็จึงสันนิษฐานว่า เป็นเพราะฝั่งตรงข้ามของอำเภอเชียงของ คือเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว คงมีการอพยพไหลมาของชาวเวียดนาม เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่มาก่อน แล้วจึงข้ามฝั่งมาอาศัยที่อำเภอเชียงของ เพราะสมัยนั้นคนที่อาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงของ ที่มีเชื้อสายเวียดนามอยู่มากพอสมควรทีเดียว เช่น “ปุ่คัง” ที่ท่านขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่อร่อยมากๆ และ “ลุงกือ” ที่ท่านอาศัยอยู่ที่ “บ้านใน” หลังตลาดเชียงของเป็นต้น จึงทำให้วัฒนธรรมการกินของอำเภอเชียงของ จะแตกต่างจากอำเภอหรือจังหวัดอื่นในภาคเหนือของเราอยู่บ้างนั่นเองครับ

ข้าวแลงฟืน
      
พูดถึงอาหารการกินของรัฐฉาน ที่ต้องไม่พูดถึงไม่ได้ คือ “ข้าวแลงฟืน” ที่มีแหล่งที่มาจากรัฐฉานและสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน “ข้าวแลงฟืน” เป็นการนำเอาถั่วลันเตามาบด แล้วจึงนำเอาแป้งที่ได้จากถั่วลันเตานั้นมาทำเป็นอาหาร ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็เริ่มมีขายในตลาดทั่วไปในภาคเหนือแล้ว 

อีกทั้งในกรุงเทพฯ เอง เท่าที่ทราบก็มีพี่น้องคนเมืองหรือคนภาคเหนือเรา มาทำขายในกรุงเทพฯ แล้วเช่นกัน ซึ่งข้าวแลงฟืนของไทยเรา เนื่องจากถั่วลันเตานั้นมีราคาค่อนข้างจะแพง จึงได้มีการนำเอาถั่วชนิดอื่นๆ มาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนกันมากในไทยเรา อีกทั้งมีการพัฒนาชนิดของเมนูมากขึ้น 

ที่รัฐฉานจะมีการทานอยู่เพียง 3-4 เมนูเท่านั้น คือจะมีแบบนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วทอดพอเหลืองทานกับน้ำจิ้ม หรือทานแบบเย็นๆ ซอยข้าวแลงฟืนแบบแห้งๆ แล้วใส่เครื่องปรุงรส ผสมๆ ทานเลยก็มี  อีกหนึ่งเมนูที่นิยมกันมาก คือจะต้มแบบไม่เข้มข้นหรือยังเป็นลักษณะน้ำซุปอยู่ แล้วใส่เส้นหมี่หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวลงไปต้มรวม พอตักใส่ภาชนะแล้ว ก็เยาะด้วยน้ำซีอิ๊วและพริกทอดน้ำมันงาลงไป ทานเป็นอาหารเช้า เรียกเป็นภาษาจีนยูนนานว่า “ซีโต๋วเฟิ่น” ส่วนภาษาเมียนมาผมรับสารภาพว่า “จำไม่ได้ครับ” แฮ่......
       
วัฒนธรรมที่หลั่งไหลไปมาจากชายแดนที่อยู่ติดกัน เราไม่สามารถที่จะพูดได้ว่า ใครลอกเลียนแบบใครได้ เพราะวัฒนธรรมก็เปรียบเสมือนน้ำ ที่มักจะไหลมารวมกันได้ตามธรรมชาติ ยังมีอีกหลากหลายวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ผมจะค่อยๆ นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปนะครับ

ข้าวซอยเชียงใหม่