ปราบแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ ต้องขันนอตทั้งวงจร

18 ก.พ. 2566 | 07:00 น.

บทบรรณาธิการ

ที่ประชุมครม.วันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.2566 เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ..... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ตรวจพิจารณาแล้ว เพื่อเตรียมประกาศบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ เพื่อรับมือปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ที่ถึงขั้นวิกฤต มีคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองอยู่ในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 200,000 คดี
     
สาระสำคัญ ของร่างพ.ร.ก.ใหม่สู้ภัยทางไซเบอร์ครั้งนี้คือ เพิ่มความรวดเร็วในการระบุว่า บัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยใดเป็นบัญชีม้า โดยให้เป็นความเห็นชอบร่วมกันของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากแบงก์ และ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ สตช. ดีเอสไอ หรือ ปปง. มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้ หากพบเหตุควรสงสัยว่า มีการกระทำผิดทางเทคโนโลยี หรือฐานฟอกเงิน รวมทั้งให้อำนาจแบงก์ หรือ เจ้าของบัญชีสั่งอายัด-ระงับธุรกรรมไว้ได้ทันทีเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ ยังระบุโทษเจ้าของบัญชีม้า บัญชีเงินฝาก-บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หมายเลข หรือ เครื่องโทรศัพท์ ไปในการกระทำความผิด มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ชักชวน หรือ จัดหาให้คนมาเป็นบัญชีม้าเจอหนักกว่า คือจำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 
     
ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ระบาดไปอย่างกว้างขวาง โดยแฝงมากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ที่คนติดต่อสัมพันธ์กันได้โดยไม่ต้องพบหน้า จากการล่อลวง หรือ ฉ้อโกงแบบตัวต่อตัวยกระดับเป็นขบวนการ และหลอกลวงแบบสุ่มโดยไม่เลือกเหยื่อ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุที่ความระมัดระวังตัวอาจไม่ฉับไว จนเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะล้วงหมดทั้งบัญชี

นอกจากแก้กฎหมายเพิ่มโทษบัญชีม้าและผู้จัดหา-ชักชวน เพิ่มอำนาจการอายัด-ระงับธุรกรรมทางบัญชีทันที เพื่อให้ทันสถานการณ์แล้ว การแก้ปัญหาหลอกลวงออนไลน์ต้องขันนอตทุกขั้นตอนทั้งวงจร ตั้งแต่เจ้าของบัญชีที่ต้องให้ข้อมูลข่าวสารให้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่มีลูกเล่นใหม่อยู่ตลอดเวลา 

ขณะเดียวกันด้านแบงก์และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ นอกจากต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแล้ว ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายด้วย เพราะเกิดขึ้นจากการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และบริการแบงก์ที่ควรต้องมีระบบป้องกันความเสียหายอย่างเพียงพอ 
     
ส่วนทางคดีนั้นต้องดำเนินคดีอย่างเข้มงวดสูงสุด เกาะติดและขยายผลถึงเครือข่ายทุกระดับจนถึงผู้บงการ หรือ ผู้ได้รับประโยชน์ทั้งหมด ทั้งในประเทศ หรือ ระหว่างประเทศ เพราะภัยไซเบอร์เป็นภัยข้ามรัฐข้ามพรมแดนที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันปราบปรามให้เด็ดขาด