ขอของขวัญปีใหม่ ลดค่าไฟฟ้า

29 ธ.ค. 2565 | 07:00 น.
629

บทบรรณาธิการ

ปัญหาค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นประเด็นร้อน สั่นครอนรัฐบาลว่าจะหาทางออกอย่างไร ที่จะมาช่วยเหลือลดค่าครองชีพให้กับภาคประชาชน หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศออกมาว่าตรึงค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ให้กับบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย เพียงแค่ 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2566) เท่านั้น
     

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ ไม่สามารถช่วยได้ ปรับขึ้นค่าเอฟทีขึ้นไปที่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย
     

ค่าไฟฟ้าที่ประกาศออกมานั้น ทำให้บรรดาภาคประชาชน และภาคการผลิตออกมาโวยรัฐบาลกันทั่วหน้า 

เครือข่ายภาคประชาชน 133 องค์กร ออกมาเคลื่อนไหว ขอให้รัฐบาลทบทวนค่าไฟฟ้า โดยให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) กับผู้ใช้ไฟทุกภาคส่วนทั้งครัวเรือน ธุรกิจและภาคเกษตรกรรม
     

ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ยื่นหนังสือที่ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอบรรเทาค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นมา และมีแนวโน้มที่จะพุ่งทะลุขึ้นไปกว่า 6 บาทต่อหน่วยภายในปี 2566


กกร.ชี้ให้เห็นผลของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงปี 2566 ว่า จะกระทบต้นทุนหลักของภาคการผลิตและภาคบริการ และยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟสูงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงราคาสินค้าที่อาจจะปรับขึ้นไปได้ กระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก 3.0% อาจแตะที่ 3.5% และอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น ยิ่งจะซํ้าเติมผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ

ทางออกเรื่องนี้ มีการเสนอขอรัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่ม มาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ โดยให้รัฐบาลจัดหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน และภาครัฐควรเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายหรือ AP (แม้จะไม่ผลิตไฟฟ้าก็ต้องจ่ายให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า) จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง
     

รวมทั้ง ขยายเพดานหนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีไว้ 2 ปี ออกไป ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เพื่อให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น
     

กกพ.ยืนยันว่า การจะลดภาระค่าไฟฟ้า จะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อนุมัติเงิน 6,000 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐอีกราว 2,700 ล้านบาท รวมถึงการยืดหนี้ของกฟผ.ที่ต้องเรียกเก็บราว 33 สตางค์ต่อหน่วยออกไป ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ได้ทันที่
สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล จะตัดสินใจมอบของขวัญปีใหม่ ลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ได้มากน้อยเพียงใด คงต้องรอลุ้นกันในเร็วๆ นี้