ถอดบทเรียน “น้ำท่วม” รื้อใหม่แผนแม่บทป้องกัน

26 ต.ค. 2565 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2565 | 19:23 น.

บทบรรณาธิการ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานที่ประชุม ครม. 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ระบุว่า ปีนี้เจออิทธิพลทั้งของพายุ 3 ลูก และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งปี ถึง 22 ต.ค. 2565 มีปริมาณถึง 1,775 มิลลิเมตร (มม.) ซึ่งมากกว่าค่าปกติ 21% น้อยกว่าเมื่อปี 2554 อยู่เพียง 3 มม. หรือคิดเป็น 0.2% เท่านั้น
 

แนวทางบริหารจัดการน้ำ ตามเกณฑ์ความปลอดภัยของเขื่อน และให้เกิดผลกระทบประชาชนน้อยที่สุด โดยรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ +17.50-17.70 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายเข้าคลองฝั่งตะวันออก ลดการปล่อยน้ำเขื่อนป่าสัก เพื่อลดระดับน้ำแม่น้ำป่าสักก่อนลงสมทบเจ้าพระยา และลดการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก เพื่อเร่งสูบน้ำจากทุ่งและที่ลุ่มต่ำ
 

กอนช.ชี้ว่า การระบายน้ำเข้าฝั่งตะวันออกและตะวันตกที่ผ่านมาทำได้น้อย เนื่องจากต้นคลองใหญ่แต่ปลายคลองเล็ก และปลายคลองมีฝนตกน้ำท่วมอยู่ในพื้นที่ มีน้ำท่าเข้าสมทบ จึงต้องเร่งระบายผ่านท้ายน้ำเจ้าพระยาเพิ่ม จนบางจุดระดับน้ำล้นลำน้ำและคันคลองขาด อีกทั้งบางที่ชาวบ้านไม่ยอมให้คันกันน้ำ จนเกิดน้ำหลากเข้าท่วมวงกว้าง
 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้้ำเหนือและน้ำฝนลดลงแล้ว ทำให้ลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำชี-มูล จะเข้าสู่ภาวะปกติในกลางเดือนพ.ย.2565 นี้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงช่วงปลายเดือน ต.ค. และ ต้นพ.ย.นี้ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
 

ทั้งนี้ รัฐบาลสั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจ่ายค่าชดเชยเยียวยา เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมทั้งกำชับให้ระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อให้ระดับน้ำลดลงโดยเร็วที่สุด โดยได้เตรียมพร้อมแผนฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยหลังน้ำลดไว้แล้ว โดยช่วงวันที่ 25 ต.ค - 15 พ.ย. 2565 จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี ช่วงวันที่ 1 พ.ย. 65 - 30 พ.ย. 2565 จ.อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี และ ช่วงวันที่ 15 พ.ย. - 30 ธ.ค. 65 จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
 

แม้พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำมูล-ชีกำลังกลับสู่ภาวะปกติ แต่ร่องมรสุมและเส้นทางเดินพายุ ยังมีโอกาสเคลื่อนสู่พื้นที่ภาคใต้ ที่กอนช.ยังต้องเฝ้าติดตามระมัดระวังอยู่อีกต่อไป

 

รวมทั้งบทเรียนน้ำท่วมที่เกิดในวงกว้าง หรือ เขตเศรษฐกิจของเมืองเจอน้ำท่วมจากภาวะฝนตกหนักผิดปกติจนระบายไม่ทัน หรือน้ำล้นคันกั้นจนท่วมเส้นทางสายหลักซ้ำซาก จากการเปลี่ยนแปลงของทั้งสภาพกายภาพทางภูมิศาสตร์ จากการเติบโตของเมือง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จนระบบป้องกันเดิมไม่พอรับมือต่อไป
 

ต้องเร่งสรุปบทเรียนและวางแผนระบบป้องกันใหม่ ที่สอดคล้องกันตั้งแต่การบริหารจัดการใหญ่ในภาพรวม ลงมาจนถึงระดับพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายของปัญหา“น้ำท่วม”ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต