การกินเนื้อสัตว์เป็นกรรมหนัก

27 มิ.ย. 2567 | 03:30 น.
689

การกินเนื้อสัตว์เป็นกรรมหนัก คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

การสร้างกรรมหนัก มีอยู่มากมายหลายการกระทำ แต่ถ้าในมุมของสังคมโลก กรรมที่หนักเป็นอย่างยิ่ง คงจะหลีกหนีไม่พ้น กรรมที่ได้ตัดรอนชีวิตผู้อื่น คำว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือจะเป็นสัตว์ ก็ตามที

จำได้ว่า พระพุทธเจ้า เคยสอนมนุษย์ทั้งหลาย มิให้มีอาชีพค้าขายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ถ้าพูดให้กว้างก็คือ ไม่ให้ค้าขายชีวิตสัตว์ แต่ในมุมคำสอนนี้ รวมไปถึงสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และสัตว์ที่ถูกทำร้ายชีวิตให้ดับลง เพื่อนำเอาไปเป็นอาหาร

การทำร้ายชีวิตสัตว์ เพื่อไปเป็นอาหารนั้น นับได้ว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นไก่ เป็นหมู หรือเป็นเนื้อก็ตาม แต่ก็มีบางคนอาจจะมีมุมมองที่เห็นแย้งว่า ผู้ที่ค้าขายเกี่ยวกับชีวิตสัตว์เพื่อนำไปเป็นอาหาร กลับมีชีวิตที่สุขสบาย มีความร่ำรวยมั่งคั่งมากกว่าอาชีพอื่นๆ

เคยได้ยินเรื่องราวของนักธุรกิจที่ค้าขายชีวิตสัตว์ เขาเหล่านั้นมักจะทำบุญสุนทรทาน โดยมีความคิดความเชื่อที่ว่า บุญที่ทำนั้นอาจจะไปทำให้บาปกรรมที่เขาสร้างนั้น ตามสนองย้อนคืนช้าลง หรือไม่ย้อนคืนเลย เพราะเงินที่ได้มาเขาก็นำไปทำสาธารณประโยชน์ ทั้งกับมนุษย์และกับพระพุทธศาสนา

ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่ผิด กรรมก็คือกรรม อาจจะหนีกรรมได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อเติมบุญกุศลเข้าไปให้มากยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายไม่ชาติใดชาติหนึ่งของผู้นั้น ก็จะต้องได้เสวยวิบากกรรมที่เขาทำ อย่างหลีกหนีไม่พ้น

ตามความเป็นจริง การค้าขายชีวิตสัตว์ โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้ฆ่า เศษบาปเสร็จกรรมนั้น ก็ได้รับด้วยเช่นกันแม้ว่าจะไม่มาก ไม่เหมือนกับผู้ที่สั่งฆ่า และลงมือฆ่าด้วยตัวเอง พลวัตของโลกในปัจจุบันมองว่า สัตว์เป็นอาหารของมนุษย์ที่มีความจำเป็นทั่วโลก การที่ได้ทำธุรกิจค้าขายชีวิตสัตว์ที่เป็นอาหารนั้นย่อมไม่ผิดบาปใดๆ

ซึ่งนั่นก็เป็นความคิดของเขา แต่ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีข้อยกเว้น ผิดก็คือผิด บาปก็คือบาป มิเช่นนั้นพระพุทธองค์ คงไม่ดำริให้ศีลข้อแรก งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งปวง

หลังจากที่อ่านตำราหลายเล่ม ทางด้านการแพทย์ ทางด้านศาสนาปรัชญา จึงไม่แปลกใจที่เขามีความเชื่อกันว่า แท้ที่จริงแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินพืช ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีพด้วยการกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ด้วยโครงสร้างของฟันกราม มิได้มีไว้สำหรับกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร

ตอนไปอินเดียใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ของประเทศอินเดียเคยถามว่า ทำไมชาวพุทธในประเทศไทย เวลามาแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย จึงนำเนื้อสัตว์มาบริโภคด้วย ทั้งที่ศีลข้อแรกก็เป็นการห้ามฆ่าสิ่งมีชีวิต แต่การกินเนื้อสัตว์ เป็นการส่งเสริม ให้มีผู้คนฆ่าสัตว์มากขึ้นเพื่อนำมาเป็นอาหารเช่นนี้จะไม่บาปหรือ

ก็จำที่จะต้องอธิบายไปว่า ถ้าเนื้อที่เรากินนั้น ไม่ได้เจาะจงฆ่าเพื่อเรา เราไม่ได้สั่งให้ฆ่า เราไม่ได้รังเกียจและเราก็ไม่ได้เห็นในตอนที่เขาฆ่า ก็พออนุโลมที่จะกินได้

เจ้าหน้าที่คนนั้น อมยิ้มและคงคิดในใจว่า เราเข้าใจที่ตอบคำถาม โดยหาทางออกได้อย่างลึกซึ้ง

ไม่ใช่หรอกครับ ที่ผมตอบเธอไป ก็เป็นหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเธออาจจะไม่เคยทราบประเด็นนี้มาก่อน ถึงการละเว้นในการที่จะกินเนื้อสัตว์

ดังนั้น ใครก็ตามถ้ามีแนวคิดที่ว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นบาปเป็นกรรม ก็ลองใคร่ครวญพิจารณาดูว่า การกินเนื้อสัตว์ของคุณนั้น คุณเจาะจงที่จะฆ่าสัตว์ตัวนั้นไหม เช่น ชี้นิ้วสั่งว่าจะเอาปลาตัวนี้ เอากุ้งตัวนี้ เอาไก่ตัวนี้ หรือ คุณรังเกียจเนื้อนั้นไหม หรือคุณเห็นในเวลาที่เขาฆ่าไหม ทุกอย่างอยู่ที่คุณพิจารณาและสถานการณ์ที่คุณได้เจอ

ถ้าหาก การกินเนื้อสัตวของคุณนั้น ไม่ได้เข้ากฎเกณฑ์ตามที่พระพุทธเจ้าสอน ความผิดบาปหรือบาปกรรม ก็ไม่ได้เกิดกับคุณแต่ประการใด แต่ผู้ที่ตั้งใจฆ่า เพื่อเอามาขายให้เป็นอาหารนั้น ความบาปมีมากมาย บาปกรรมไปตามเขาไปทุกภพชาติ

ได้เกิดเป็นมนุษย์เมื่อไหร่ ก็จะพิกลพิการหรือมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง เป็นเช่นนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์ จนกว่าจะสิ้นเวรหมดกรรม กับดวงจิตวิญญาณของสัตว์เหล่านั้น แล้วจึง จะเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ของการเกิดอีกครั้ง