สวดมนต์บทไหน สวดอย่างไรให้เป็นมงคล

23 พ.ย. 2566 | 03:10 น.
4.6 k

สวดมนต์บทไหน สวดอย่างไรให้เป็นมงคล คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

เรื่องของการสวดมนต์ บอกได้เลยว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวพุทธอย่างยิ่ง เพราะบทสวดมนต์ สามารถปรับเปลี่ยน ภาวะ ธาตุในร่างกาย ให้กลับมาสมดุลได้ ไม่ว่าจะเป็นธาตุ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม หรืออากาศธาตุ และมีส่วนเสริมสร้างให้เม็ดเลือดกระแสเลือด ภาวะการทำงานของอวัยวะ ปรับให้เกิดภาวะความสมดุลมากยิ่งขึ้น

หลายท่านที่เป็นสายมู มักนิยมชมชอบสวดมนต์ครั้งละ 108 จบบ้าง 9 จบบ้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะเดียวกันเราควรเลือกมนต์ ที่เหมาะสมและเป็นสากลสำหรับความเป็นชาวพุทธ และควรจะต้องรู้วิธีการสวด ที่จะเข้า ไปสู่ภาวะจิตวิญญาณได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าสวด เพื่อเพียงหวังให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 108 จบ 9 จบ บางครั้งก็สวดเป็นแบบนกแก้วนกขุนทอง ท่องไปเรื่อยแต่จิตใจหามีความสำรวมไม่ อานิสงส์แห่งการสวดก็ใช่จะปรากฏ

หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลีกรุงเทพฯ เคยสอนเอาไว้ว่า การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรสวดช้าๆ ตั้งใจสวดทุกคำที่เปล่งออกมานั้น ต้องออกมาจากจิตใจ ไม่ใช่ออกมาจากความทรงจำ เพียงอย่างเดียว อานิสงส์แห่งการสวดจะปรากฏ อย่างยิ่งใหญ่ แต่ถ้าสวดเอาเร็วๆ เพื่อให้รีบจบนั้น ภาวะจิตวิญญาณ ก็คงไม่อาจซาบซึ้งและเข้าถึงในกุศลแห่งการสวดได้

แต่ละคำที่เปล่งออกมา ควรให้ออกมาจากใจ สวดช้าๆ เพราะทุกคำมีความหมาย มีผลใหญ่อานิสงส์ใหญ่ บางครั้ง ไม่ต้องสวดมาก แม้แต่จะสวดน้อยก็ขอให้สวดอย่างใช้ใจสวด และเมื่อสวดเสร็จแล้ว ก็ให้อธิษฐานจิตเมื่อปรารถนาสิ่งใด ก็ย่อมจะสำเร็จทุกประการตามวาสนาของแต่ละคน

บทสวดที่เป็นสากลของความเป็นพุทธศาสนา และคนพุทธทั่วโลกนิยมสวดนั่นก็คือ ไตรสรณคมน์และอิติปิโส

เราเริ่มจากบทไตรสรณคมน์ก่อน

พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ 

สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ 

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ 

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ 

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ

จากนั้นสวดบทอิติปิโสต่อ

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุขโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวาติ

เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส และตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความเจริญ เป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ดังนี้

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย, อัญชะลีกะระณีโย, อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติดีแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติตรงแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

เพียงแค่ 2 บทนี้ สวดอย่างตั้งใจช้าๆ ก็สามารถพลิกชีวิตของเรา จากร้ายให้คลายคืนได้ไม่จำเป็นต้องสวดมากจบแต่สวดแล้วให้อิ่มเอิบเบิกบาน เพราะเราใช้จิตในจิตออกมาสวด ผลอานิสงส์ของการสวดก็มีมากเทพเทวดาทั้งหลายก็ชื่นชมอนุโมทนา ท่านก็จะคอยมาปกปักรักษาเรา ให้มีความสุข มีชีวิตที่ราบรื่น ปรารถนาสิ่งใด ถ้าไม่เกินวาสนาย่อม สมปรารถนาทุกคน

เริ่มต้นปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ไม่มีคำว่าสายเมื่อใจคิดได้