ทหาร-มหาดเล็ก-รักษาพระองค์

19 ส.ค. 2566 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 13:06 น.
2.7 k

ทหาร-มหาดเล็ก-รักษาพระองค์ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ต่อเนื่องจากฉบับก่อน

ท่านผู้อ่านกรุณาถามไถ่เข้ามาว่าแล้ว ทหารรักษาพระองค์ ทหารมหาดเล็กฯ กับ ทหารราชองครักษ์ และตำรวจราชสำนัก ต่างกันอย่างไร กับเรื่องอื่นๆอีกบ้าง
 
ตรงนี้ก็ขอเรียนรับใช้ โดย‘เล่า’ คร่าวๆด้วยปัญญาอันน้อยอีกทีและ เท่าที่พอทราบเฉพาะแบบธรรมเนียมในรัชกาลก่อนๆเท่านั้น ในลักษณะตำนาน ดังต่อไปนี้

มหาดเล็ก กับ ทหารมหาดเล็ก
 
โดยทั่วไปประดาผู้ทำงานรับใช้ในราชสำนัก เมื่อมีบุตรชายเกิดขึ้นในครอบครัว ก็ถือเปนแบบธรรมเนียมควรต้องนำขึ้นถวายตัว ให้เจ้านายที่ตนสังกัดเลกนำไปใช้สอย ถวายงานรับใช้ในภารกิจต่างๆได้อย่าง’ตามพระราช อัธยาศัย’ สืบรุ่นไป

การถวายตัวให้ทรงเรียกใช้สอยนี้ เมื่อทรงรับไว้แล้ว ก็เรียกขานกันว่าไปเปนมหาดเล็ก จะมีหน้าที่เดินจดหมายบ้าง เดินน้ำชาบ้าง ไล่อีกาบ้าง จนไปถึงภารกิจอื่นๆตามแต่จะมีพระกรุณา_พระมหากรุณา
 
ลำดับศักดิ์ของมหาดเล็กก็มีอีก พวกที่ต่ำศักดิ์ที่สุด เห็นจะเรียกพวกวิเศษ_ มหาดเล็กวิเศษ พวกนี้ไม่ได้สังกัดหน่วยงานกรมมหาดเล็กอย่างที่เปนหลักเปนฐานมีอธิบดีเปนผู้บัญชาการราชการ แต่ทรงรับการถวายตัวให้ทรงใช้สอยแล้ว เปนที่รู้กันอยู่ในทีว่าเปน ‘คนหลวง’ แต่ไม่ได้เปนข้าราชการเข้าระบบจริงจัง อย่างชั้นที่สูงเหนือขึ้นไป
 
ลักษณะการถวายงานรับใช้ใกล้ชิดอย่างมหาดเล็กนี้ เมื่อกล่าวถึงในทางราชการทหารใช้แก่ทหารกลุ่มหนึ่ง ที่มีภารกิจพิเศษเพิ่มพูนจากหน้าที่ราชการทหารทั่วไป กล่าวคือ เปนทหารที่ทำการถวายงานรับใช้ใกล้ชิด ในภารกิจทางทหารดังกล่าวในรัชกาลที่ผ่านๆมา เหล่าพวกเขาสังกัด กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ บ่งบอกว่าเปนทหารรักษาพระองค์ด้วยและเปนทหารมหาดเล็กด้วย ในขณะที่หน่วยอื่น หากเปนหน่วยรักษาพระองค์ จะไม่มีคำว่ามหาดเล็กนำหน้า นับเปน ทหารรักษาพระองค์เฉยๆ ไม่เปนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์นี้ ประกอบด้วยกองพันอีก 4 กองพัน หนึ่งในนั้นเปนกองพันทหารมหาดเล็กราชวัลลภ _มีสัญลักษณ์พิเศษที่ปกเสื้อเครื่องแบบเปนตราราชวัลลภ-ผู้คุ้นเคยของพระราชา
 
นอกนี้ยังมีพระมหากรุณา สำหรับทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในกรมนี้ พระราชทานเข็มราชวัลลภลักษณะเปนตราราชวัลลภทองคำประทับอยู่บนแพรแดง ใช้ติดหน้าอกขวากับทุกเครื่องแบบ ถ้าเลื่อนยศเปนที่ชั้นนายพล อาจพระราชทานเข็มนี้เปนชั้นทองคำลงยาเปนเกียรติยศอย่างสูงต่อไป เข็มนี้มีชั้นทองคำลงยาฝังเพชรอีกด้วย พระราชทานแล้วไม่ต้องถวายคืน ให้ตกทอดแก่ทายาท แต่ทายาทจะนำมาประดับไม่ได้

ทหารรักษาพระองค์ กับ ทหารราชองครักษ์
 
โดยทั่วไป หน่วยทหารทั้งหลายในประเทศ มีลำดับเกียรติคุณแตกต่างกันไป จะด้วยประวัติความเปนมายาวนานกว่ากัน หรือ ประวัติการรบโชกโชนต่างกัน ก็แล้วแต่ หน่วยที่มีเกียรติคุณมาก อาจได้รับพระมหากรุณายกขึ้นเปน หน่วยทหารรักษาพระองค์
 
การสวนสนามในรัชกาลก่อนช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีนั้นเปนการสวนสนามของเหล่าทหารรักษาพระองค์แต่ละหน่วยแต่ละเหล่ามาร่วมกันทั้งสิ้น ทหารผู้ใดรับราชการในหน่วยรักษาพระองค์ ก็ได้รับเกียรติให้สวมเครื่องแบบทหารรักษาพระองค์ได้ ที่เราท่านพบเห็นเปนเสื้อสีต่างๆ แดงบ้าง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง ม่วงบ้าง ฟ้าหม่นบ้าง สีฟ้าหม่น กระดุมทองสองแถวเปนทหารม้ารักษาพระองค์ มีรายละเอียดที่กนกข้อมืออีกว่ารักษาพระองค์ใด
 
สีม่วง กระดุมทองแถวเดียว เปนทหารเสือราชินี รักษาพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ สีเหลือง เปนทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ สีเขียว เปนทหารราบ กองพลที่ 2 รักษาพระองค์ สีแดง เปนทหารราบ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ถ้ากนกข้อมือดำ พระปรมาภิไธย สพปมจ ถ้ากนกข้อมือกรมท่าเข้ม พระปรมาภิไธย ภปร เปนกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ เปนต้น
 
ทหารอื่นนอกหน่วยรักษาพระองค์อาจได้รับเกียรติให้เปนนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์นั้นๆก็ได้ เช่นว่าเคยรับราชการในกรมรักษาพระองค์นั้นๆมาก่อน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปนนายทหารพิเศษฯ สวมเครื่องแบบสีต่างๆดังกล่าว

คราวนี้ก็เล่าถึงเรื่องหน้าที่กันบ้าง


 
ในขณะที่ ทหารราชองครักษ์ ที่หน้าที่ถวายอารักขาแด่พระบรมวงศ์โดยตรง ท่านเหล่านี้ในรัชกาลก่อนมีผู้บังคับบัญชาโดยตรงเปน ‘สมุห’ ชื่อสมุหราชองครักษ์กำกับราชการกรมราชองครักษ์ทหารรักษาพระองค์ อาจไม่ได้เปนทหารราชองครักษ์ก็ได้
 
ทหารราชองครักษ์ มีพระปรมาภิไธยประกอบพระมหาพิชัยมงกุฎทองติดที่บ่าขวา แทนเครื่องหมายยศ ทหารราชองครักษ์จะรับหน้าที่ได้ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ตาม พรบ. ถวายความปลอดภัยฯ
 
ในรัชสมัยนั้น แบ่งเปน ราชองครักษ์ประจำ คืออยู่ประจำการยังกรมราชองครักษ์ ที่คอปกติดครุฑทอง / ราชองครักษ์เวร คือ มาทำราชการตามวงรอบการเข้าเวร และ ราชองครักษ์พิเศษ มาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณตามโอกาสที่มีพระมหากรุณาฯ ยามปฏิบัติหน้าที่สวมปลอกแขนกรมท่าคาดแถบทอง ที่คอเสื้อไม่ติดครุฑทอง
 
ความเปนราชองครักษ์นี้สำหรับชั้นพิเศษตามธรรมเนียมเก่าถือว่าติดตัวไปตลอด แม้จะพ้นตำแหน่งหรือเกษียณอายุราชการแล้ว จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ต่อเมื่อตายไป หรือ มีพระมหากรุณาฯให้พ้นจากหน้าที่
 
ในเวลาเดียวกันทหารราชองครักษ์ อาจไม่เคยเปนทหารรักษาพระองค์มาก่อนก็ได้ อาจเข้ารับราชการในกรมราชองครักษ์แต่ต้นเลย เมื่อผ่านการพัฒนาคุณวุฒิ วัยวุฒิ แล้วอาจมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้เปนราชองครักษ์ในเวลาต่อมาไป ทั้งนี้ทุกคนในกรมราชองครักษ์ก็หาได้เปนราชองครักษ์ทุกคนไม่ บางท่านมีกิตติคุณทางทหารแกล้วกล้า มีภาระหน้าที่สำคัญอยู่ในที่ตั้ง เช่นตามชายแดนต่างๆ ก็อาจได้รับพระมหากรุณา ให้กรมราชองครักษ์ตั้งเปนนายทหารเสริมกำลังพิเศษถวายงานด้านราชองครักษ์เปนครั้งคราวก็มี
 
ทีนี้พอจะให้ท่านเห็นภาพว่าใครเปนใคร โดยยกระเบียบข้อ 102 ในรัชสมัยก่อน มาอธิบาย เช่น ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ต้องล้อมวงเข้ารักษาพระองค์ถวายความปลอดภัย ทหารรักษาพระองค์จะล้อมวงชั้นนอกก่อน ต่อด้วยทหารมหาดเล็กวงถัดมา ส่วนราชองครักษ์ต้องเข้าอยู่ในวงล้อมชั้นใกล้พระองค์ สมุหราชองครักษ์ ถวายอารักขาเบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) หันหน้าออก
 
คราวนี้ท่านจะเห็นภาพว่า ในคนๆหนึ่งที่เปนทั้งทหารรักษาพระองค์ด้วย เปนทหารมหาดเล็กด้วย เปนทั้งราชองครักษ์ด้วย มีภาระหน้าที่ multi tasking อย่างไร
 
ทีนี้ก็ต่อไปเรื่องว่าด้วยตำนานของตำรวจหลวง ตำรวจวัง ตำรวจราชสำนัก ตำรวจเปนข้าราชการฝ่ายพลเรือน ต่างจากทหารที่เปนข้าราชการฝ่ายพลรบ ในกลางรัชกาลก่อนตำรวจสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ต่างกับทหารที่สังกัดกระทรวงกลาโหม ในฐานที่เปนผู้ถืออาวุธทั้งคู่และอาจมีการกระทบกระทั่งกันเวลาเข้าจับกุม จึงมีข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ใครจะทำอะไรบุ่มบ่ามเข้าหากันจะทำมิได้
 
ตำรวจในรัชกาลก่อนนั้นเมื่อรับพระราชทานยศเปนนายพล คุกเข่าข้างหนึ่งหน้าพระที่นั่งแล้ว จะทรงพระกรุณาใช้พระแสงขรรค์ชื่อพระแสงขรรค์เพชรน้อยแตะที่บ่าช้าย_ขวา ต่างจากทหารที่ทรงใช้พระคทาจอมทัพแตะ ด้วยว่าตำรวจเปนพลเรือน ไม่ใช่พลรบ 


 
ข้าราชการตำรวจที่ใส่เครื่องแบบตำรวจสีกากีหากมีคำสั่งให้เข้าถวายงานในราชสำนัก จะไปรายงานตัวกับหัวหน้านายตำรวจราชสำนัก ซึ่งรายงานตรงต่อสมุหราชองครักษ์อีกทอดหนึ่ง
 
หัวหน้านายตำรวจราชสำนักในเวลานั้นยังไม่ขาดจากต้นสังกัดกรมตำรวจ ทำหน้าที่กำกับดูแลคณะทำงานประกอบด้วย ตำรวจราชสำนักพิเศษ ตำรวจราชสำนักเวร ตำรวจราชสำนักประจำ อีกนั่นแล ตำรวจราชสำนักติดบ่าขวาด้วยพระปรมาภิไธยในพระมหาพิชัยมงกุฎสีเงินแทนเครื่องหมายยศ ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยคล้ายๆราชองครักษ์ แต่จะมีการกำหนดขอบเขต ในเวลานั้นตำรวจราชสำนักเข้าเขตพระราชฐานชั้นในสุดอย่างราชองครักษ์(ทหาร)มิได้
 
ตำรวจราชสำนักเปนคนละคนกับตำรวจหลวง ตำรวจหลวงไม่สังกัดกรมตำรวจ สังกัดที่ในสำนักพระราชวังคอยถวายงานแซงเสด็จ มักนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนเสื้อราชประแตนขาว ถือดาบเรียวมีโกร่งเก็บในฝัก ยามปฏิบัติหน้าที่เปลือยฝักออกแล้วพาดร่องบ่าเดิน และใส่หมวกยอดปิดหูขลิบทอง ขอให้นึกภาพยามสมเด็จพระมหาบุรุษทรงช้าง แล้วมีจตุรงคบาท รักษาสี่ทิศตามแนวขาช้าง ท่านเหล่านี้ทำหน้าที่อย่างนั้น และหลายท่านสืบเชื้อสายมาจากจาตุรงคบาทในบรรพกษัตริย์จริงๆโดยตรง เมื่อส่งเสด็จแล้วยืนระวังอยู่เปนพระเกียรติยศและคอยระวังอยู่ห่างๆในระยะใกล้ที่ประทับ ในหมู่ตำรวจหลวงนั้นมีตำรวจหลวงรักษาพระองค์อีกด้วย ตำรวจหลวงที่ว่านี้แปลกอยู่หลายทีตรงที่ว่าหลายท่านมักเปน
ทหาร!
 
ตำรวจวังก็เปนคนละคนกับตำรวจหลวง และเปนคนละคนกับตำรวจราชสำนัก เวลามีเหตุเกิดในเขตพระราชฐาน ตำรวจวังเปนผู้เข้ากุมตัว ท่านเหล่านี้มักสังกัดกองวัง บางท่านคุมประตูพระราชฐาน บางท่านเดินตรวจตรา บางท่านกำกับสังฆกิจพระเถระรามัญนิกายพรมน้ำพระพุทธมนต์ในเขตพระราชฐาน


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18  ฉบับที่ 3,915 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566