เข้าพรรษาเรื่องของพระ ไม่ใช่เรื่องของโยม

03 ส.ค. 2566 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 06:33 น.

เข้าพรรษาเรื่องของพระ ไม่ใช่เรื่องของโยม คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

เราได้เรียนรู้กันว่าการเข้าพรรษานั้นเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่พระภิกษุต้องปฏิบัติ และการเข้าพรรษาพึงปฏิบัติในฤดูฝน โดยมีเหตุผลว่าให้พระภิกษุได้พักอยู่ในถ้ำหรือกุฏิเพื่อปฏิบัติธรรมหรือเรียนรู้ธรรมะต่างๆ 

มีเรื่องเล่าอ้างกันว่าเหตุที่เกิดการจำพรรษาขึ้นนั้น เป็นเพราะว่าพระภิกษุได้ไปเหยียบย่ำนาข้าวของชาวบ้านในฤดูฝน ขณะที่สัญจรไปมา ทำให้เกิดความเสียหาย

เมื่อฟังเรื่องราวอย่างนี้แล้วก็ทำให้เกิดการฉุกคิดขึ้นว่าจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือ อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล่าแบบปรัมปรา เพราะเมื่อเราเห็นคันนาก็ค่อนข้างใหญ่ แม้ว่าจะเป็นดินก็ตาม ก็น่าจะเดินได้สะดวกสบายถึงจะมีฝนตกลงมาบ้างก็ตามที

แต่ทว่าคันนาที่กล่าวถึงนี้เป็นคันนาของประเทศไทย แต่เมื่อเราไปถึงประเทศอินเดียเราจะเห็นคันนาของเขานั้นมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าฝ่าเท้าของเราด้วยซ้ำ เคยถามชาวอย่างหนึ่งเดียวว่าคันนาที่มีขนาดนี้ในอดีตก็เท่านี้ใช่หรือไม่ เขาบอกว่าใช่

จึงไม่แปลกใจว่าขณะที่มีขนาดเล็กแล้วทำจากดิน เมื่อมีฝนตกเมื่อเดินแล้วก็ลื่นไถลลงไปในนาข้าวทำให้ข้าวเสียหายได้ นี้ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในครั้งพุทธกาลอย่างแน่นอน จึงทำให้ชาวบ้านไปร้องต่อพระพุทธเจ้าว่าพระภิกษุทำให้ข้าวของเขานั้นเสียหาย 

แต่อีกมุมหนึ่งนั้น ต่างก็กล่าวอ้างว่าพระภิกษุไปเยี่ยมญาติโยมที่ทำนาในช่วงฤดูฝน ชาวนาเหล่านั้นจึงต้องคอยต้อนรับพระและไม่มีเวลาที่จะออกไปทำนา ซึ่งเหตุผลในข้อนี้ฟังดูแล้วไม่ค่อยมีน้ำหนักเสียเท่าไหร่ 

อีกประเด็นหนึ่ง ชาวพุทธทั้งหลายมีความเข้าใจว่าควรปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดในช่วงเข้าพรรษา แต่ถ้าเราคิดอีกมิติหนึ่งก็คือเข้าพรรษาเป็นเรื่องราวและหน้าที่ของพระภิกษุด้วยเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น 

แต่การปฏิบัติธรรมของชาวบ้านนั้นจะได้พรรษาหรือนอกพรรษาก็สามารถปฏิบัติได้เช่นเดิม ถ้าคิดว่าในพรรษาต้องปฏิบัติตนเคร่งครัดเพียง 3 เดือน ส่วนอีก 9 เดือนนอกพรรษาไม่ต้องเคร่งครัดแบบนี้ก็คงจะเป็นตรรกะที่ค่อนข้างแปลก

เหมือนที่บางคนพยายามจะหยุดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน แต่อีก 9 เดือนสามารถดื่มกินได้ทุกวันและคิดว่าไม่บาป จนทำให้นักคิดบางคนมองว่าถ้าหยุดเหล้า 9 เดือน แล้วมาดื่ม 3 เดือนต่อปี แบบไหนน่าจะดีกว่ากัน 

ก็เป็นมุมมองความคิดที่เห็นต่างแต่สำหรับชาวพุทธ ที่ใช้ชีวิตแบบฆราวาสทั่วไป อันความจริงแล้วหนึ่งในศีล 5 ก็คือการไม่ดื่มสุราเมรัยใดๆ ทั้งสิ้น น่าจะเป็นสิ่งที่พึงควรกระทำมากที่สุด 

บางคนก็เลือกที่จะฉันอาหารมังสวิรัติในช่วงเข้าพรรษา เพื่อเป็นการดีท็อกซ์ตับไตไส้พุง และเป็นการไม่สนับสนุนให้เกิดการฆ่าสัตว์เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นแนวคิดที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินพืชเป็นอาหารมากกว่าการกินเนื้อสัตว์อย่างสามัญทั่วไป ด้วยลักษณะของฟันในปากไม่มีเขี้ยวอันแหลมคมใดๆ เลย 

ถ้าจะบอกว่าการเข้าพรรษาก็คือการเข้าพรรษา ไม่ได้มีอะไรพิเศษสำหรับผู้ที่เป็นฆราวาสหรือคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเราก็คงจะไม่ผิด เพราะเข้าพรรษาเป็นเรื่องของพระไม่ใช่เรื่องของโยม แต่ทุกวันนี้การเข้าพรรษาคนทั่วไปพยายามจะลากโยงให้เป็นวาระพิเศษสำหรับฆราวาสด้วย ว่าไปแล้วก็เป็นตรรกะอะไรที่ค่อนข้างแปลก 

ด้วยเหตุผลที่ว่าจุดเริ่มต้นที่มาแห่งการเข้าพรรษาตามที่เล่ามาตั้งแต่ข้างต้น คงจะเป็นเหตุผลสนับสนุนได้ว่าการเข้าพรรษาเป็นเรื่องของพระ ไม่ใช่เป็นเรื่องของฆราวาสอย่างพวกเรา

ถ้าเข้าใจตามนี้อย่างแท้จริง การเข้าพรรษาก็เป็นเพียงแค่หน้าที่ ที่พระภิกษุพึงควรปฏิบัติ จริงๆ วาระพิเศษที่พยายามสร้างขึ้นเป็นประเพณีใหม่ ก็คงจะไม่มีความหมายใดๆ อย่างแท้จริง