“โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ทุกข์ในครอบครัว

11 ส.ค. 2567 | 12:00 น.

“โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ทุกข์ในครอบครัว : Tricks for Life

ความเหนื่อยล้าจากการตั้งครรภ์ คลอดลูก และการเลี้ยงดูลูก ทำให้มนุษย์แม่หลายคนอาจเกิดความเครียด ความกังวล จนมีอาการซึมลง ไม่มีความสุข และอาจเป็น “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” โดยไม่ได้ตั้งใจ

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เป็นโรคแทรกซ้อนหลังคลอดที่พบได้บ่อยในระยะ 1 ปีแรก ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังจากคลอดลูก ส่งผลให้อารมณ์ของแม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่

1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues หรือ Baby Blues) เกิดจากการที่ยังปรับตัวหลังคลอดไม่ค่อยได้ ทำให้ มีความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก นอนไม่หลับ รับประทานอาหารได้น้อยลง โดยทั่วไปมักมีอาการอยู่ในช่วง 4 สัปดาห์แรก และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

 

2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) สามารถเกิดได้ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังการคลอด กลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงกว่า เช่น มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย บางครั้งหงุดหงิด ความผูกพันกับลูกหายไป บางครั้งมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายลูก โดยจะมีระยะของอาการที่ต่อเนื่องตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน และจะต้องได้รับการรักษาไม่สามารถหายเองได้

“โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ทุกข์ในครอบครัว

3. โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis) มักเกิดในช่วงหลังคลอด 1-4 วัน โดยผู้ป่วยมักมีอาการฉุนเฉียว ร้องไห้ง่าย คึกคัก คล้ายอาการของโรคไบโพลาร์ หูแว่ว ประสาทหลอน บางครั้งก็ได้ยินเสียงสั่งให้ฆ่าลูก โดยโรคกลุ่มนี้ไม่สามารถหายได้เอง และจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการของภาวะโรคจิตหลังคลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและลูก

สาเหตุของโรคซึมเศร้าหลังคลอด

• เกิดจากการสูญเสียคุณค่าตัวเองในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ไม่พร้อมตั้งครรภ์, ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย, ตั้งครรภ์ครั้งแรก, หรือมีประวัติแท้งมาก่อน ไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเอง ขาดการช่วยเหลือสนับสนุนที่เพียงพอจากครอบครัวและสังคมทั้งด้านจิตใจและร่างกาย มักมีประวัติซึมเศร้าก่อนตั้งครรภ์

• หลังคลอดคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายคือบาดเจ็บหลังคลอด การได้รับยานอนหลับหรือยาสลบเพื่อระงับความเจ็บปวด การอดนอน การเสียเลือด นอกจากนี้มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอร์โรน และสารสื่อประสาท serotonin, norepinephrine ส่งผลให้การตื่นตัวลดลง รู้สึกเบื่อหน่ายง่าย

• ด้านจิตสังคม คือ การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ การฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด การเปลี่ยนแปลงบทบาทมาเป็นคุณแม่ การให้นมบุตร รับมือกับความคาดหวังของตัวเองและคนรอบข้างในการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณแม่

การรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดต้องพิจารณาความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงของโรคต่อคุณแม่และทารก และความเสี่ยงของการได้รับยารักษา เพราะยาบางชนิดสามารถผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ หากอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาการรักษาโดยไม่ใช้ยาก่อน อาจเป็นการทำจิตบำบัดชนิดต่าง ๆ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรให้การรักษาแบบใช้ยาชนิดเดียวจะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงจิตแพทย์อาจมีการพิจารณาให้ทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยา

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เริ่มมีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหลังคลอดควรเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกับครอบครัวเหมือนเดิม

 

ขอบคุณ : โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital