หาเสียงกับสุขภาพ กับชุดนโยบายสาธารณสุขในฝัน

16 เม.ย. 2566 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2566 | 09:23 น.

health Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ในช่วงเวลาที่หลายพรรคการเมืองกำลังหาเสียงเลือกตั้ง ประเด็นด้านสาธารณสุขมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอๆ หลายครั้งการหยิบยกนโยบายเรื่องของการสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ถูกใช้เป็นแคมเปญในการหาเสียงของบางพรรค ซึ่งไม่แปลกเพราะในความคาดหวังของประชาชนในพื้นที่นั้น

เมื่อตั้งโรงพยาบาลที่ไหนก็สร้างความเจริญที่นั่น แต่ในข้อเท็จจริงแล้วกลไกของสาธารณสุขในบ้านเราปัจจุบันมีระดับปฐมภูมิ (Primary Care) เช่น รพ.สต., คลินิกบัตรทอง ฯลฯ เรามีบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีเครือข่ายที่เข้มแข็งอย่าง อสม. มีการพัฒนา โดยนำเอาเทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานสู่ Smart อสม.

หาเสียงกับสุขภาพ กับชุดนโยบายสาธารณสุขในฝัน

ซึ่งหากกลไกการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเหล่านี้ถูกพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพบริการและมาตรฐานการรักษา ย่อมทำให้ ลดความแออัดของโรงพยาบาล และยังเป็นการลดภาระงานของแพทย์และพยาบาลที่เกิดกับตัวอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ลงได้เท่านั้น

ขณะเดียวกันการสร้างมาตรฐานในการให้บริการทางสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในสร้างการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วและยังเป็นการลดงบประมาณด้านสาธารณสุขในระยะยาวได้ในอนาคตอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ผมไม่ได้มองเป็นนโยบายหาเสียง แต่มองว่าเป็นพื้นฐานที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการเพื่อสร้างรากฐานที่สำคัญของระบบสาธารณสุขของบ้านเรา

หาเสียงกับสุขภาพ กับชุดนโยบายสาธารณสุขในฝัน

ชุดนโยบายสาธารณสุขที่ผมเชื่อมั่นว่าในภาคเอกชนทุกคนอยากเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ หลักการไม่แทรกแซงแต่ส่งเสริม แน่นอนภาคเอกชนไม่อยากเห็นการแทรกแซงกลไกของตลาด แต่อยากสร้างการกำกับดูแลที่มีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนได้เสีย อย่างยุคหนึ่งการคุมเข้มเรื่องการให้บริการและค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลเอกชน เป็นส่วนที่ควบคุมและตรวจสอบ

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันในการปฏิบัติใช้ก็ยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัด เพราะการรักษาพยาบาล ถือเป็นการประกอบโรคศิลป์ ประกอบกับผู้รับบริการในสถานพยาบาลเอกชนย่อมมีทางเลือกในการเข้ารับบริการ ทั้งในระดับของสถานพยาบาลหรือแนวทางในการรักษาในระดับต่างๆa

ขณะเดียวกันถ้าย้อนไปในยุคช่วงการระบาดโควิด-19 เราพบความท้าทายที่ต้องร่วมกันบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ด้วยกันถึงเอกชนมีส่วนร่วม จนประสบความสำเร็จในการควบคุมและบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งต้นทางส่วนหนึ่งเกิดจากการวางนโยบายสาธารณสุขจากภาครัฐที่เหมาะสม ขณะที่ในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่นโยบายสาธารณสุขไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ ได้แก่

1) การจัดสรรทรัพยากรแพทย์และบุคลากรการแพทย์ให้สอดคล้องกับกลไกตลาด ในที่นี้ผมหมายถึงความต้องการการแพทย์ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ถ้าเราหยิบยกสถิติขึ้นมาดูจะพบว่าในบางพื้นที่มีสถานการณ์โรคบางโรคที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรคระบาดเท่านั้นแต่โรคที่มาจากพฤติกรรม การบริโภคของบางพื้นที่ที่ทำให้สถานการณ์โรครุนแรงเป็นต้น

หาเสียงกับสุขภาพ กับชุดนโยบายสาธารณสุขในฝัน

2) การเร่งพัฒนาเครือข่ายการให้บริการ การสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine) ผลสำเร็จจากการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทำให้ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลและทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเพิ่มศักยภาพในการรองรับการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และยังสอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป

3) การลงทุนด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนวิจัยทางการแพทย์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างสุขภาวะที่ดีของคนในสังคม โดยเฉพาะใน 4 ด้านสำคัญ ทั้ง สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม หรือแม้แต่สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ปัจจุบันนโยบายสาธารณสุขที่บางพรรค หลายเรื่องเน้นดูแลด้านสุขภาวะทางกาย แต่ด้านอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน

สุดท้ายในการตั้งต้นชุดนโยบายด้านสาธารณสุขนอกจากโฟกัสที่การแก้ปัญหาให้กับคนในสังคม เรายังสามารถแสวงหาได้จาก “จุดแข็ง” (Strength) ที่บ้านเรามี ขณะที่ประเทศไทยซึ่งประกาศตัวว่าเป็น พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางพืชพรรณสมุนไพร มีเมืองสมุนไพรโลก แต่การพัฒนาจนได้รับการยอมรับเป็นยาในแผนปัจจุบันที่ใช้ในสากล (คนละอย่างกับการแพทย์แผนไทย) ยังน้อยมากจนแทบไม่เห็น

หาเสียงกับสุขภาพ กับชุดนโยบายสาธารณสุขในฝัน

ซึ่งการลงทุนพัฒนากว่าจะเป็นตัวยาจนได้รับการยอมรับนั้นใช้เวลานาน และใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่หากเราตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ แต่ยังขาดอาวุธที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคร้าย อย่างยาและเวชภัณฑ์ที่เราพัฒนาขึ้นเอง เกิดจากการลงทุนด้านนวัตกรรมและการวิจัยในประเทศ ฯลฯ ย่อมทำให้เป้าหมายดังกล่าวต้องพึ่งพาที่อื่นอีกมาก

นอกจากเป้าหมายแล้ว การสร้างสภาวะแวดล้อม (Healthcare Ecosystem) ที่เอื้อให้เป้าหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จ จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ในการพินิจพิเคราะห์ ชุดนโยบายหาเสียงด้านสาธารณสุข ผมถึงอยากชวนทุกท่านพิจารณาว่านโยบายดังกล่าว เน้นที่การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพและมาตรฐาน

หาเสียงกับสุขภาพ กับชุดนโยบายสาธารณสุขในฝัน

ทั้งตัวสถานพยาบาล ทั้งผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในระบบสาธารณสุขทุกส่วนหรือไม่? เพื่อให้เกิดการพัฒนาหรือแข่งขันเพิ่มขีดความสามารถต่อในอนาคตหรือเปล่า? ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และจะนำไปสู่เป้าหมายที่เราหวังไว้คือศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ต่อไป

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,878 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2566