สัญญาณเตือน “โรคฮาชิโมโต”

26 ก.พ. 2566 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2566 | 16:22 น.
570

Tricks for Life

โรคฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis) หรือภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังพบผู้ป่วยขยายวงกว้าง

โรคฮาชิโมโต เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุของภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่พบได้บ่อย เมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายไปทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมไทรอยด์เป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนที่สอดคล้องกับการทำงานหลายอย่างของร่างกาย

Tricks for Life

สาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นโรคฮาชิโมโต เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ กรรมพันธุ์ คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง โรคเหล่านี้เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของไทรอยด์ที่ผิดปกติ บางครั้งอาจแสดงในกลุ่มของอาการที่ไทรอยด์มากเกินไปหรือไทรอยด์น้อยเกินไป ขึ้นอยู่กับภูมิตัวนี้ไปยับยั้งหรือทำให้มีการสร้างฮอร์โมนมากขึ้น

เพราะฉะนั้นถ้าในครอบครัวมีคนเป็นโรคไทรอยด์จึงควรไปตรวจสุขภาพ อาจจะพบมากขึ้นในบางเชื้อชาติ การรับประทานสารไอโอดีนมากเกินไป หรืออาจจะสัมพันธ์กับโรคภูมิคุ้มกันอื่นๆ เพศหญิงจะเป็นโรคไทรอยด์มากกว่าเพศชาย พบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่สามารถพบในเด็กวัยรุ่นและวัยกลางคนได้เช่นกัน

การตรวจวินิจฉัยโรคฮาชิโมโต สามารถทำได้โดย 

1. ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์

2. ตรวจระดับภูมิคุ้มกันไทรอยด์

ขณะที่การรักษาโรคไทรอยด์ชนิด Hashimoto’s Thyroiditis ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำทำได้โดยการให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ปกติและลดขนาดของต่อมไทรอยด์ในรายที่มีคอพอกร่วมด้วย

ในรายที่ยังไม่ปรากฏอาการ (Subclinical Hypothyroidism) หรือในรายที่มีเพียงคอพอก โดยฮอร์โมนไทรอยด์ยังปกติ แพทย์อาจติดตามอาการและฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะ และให้การรักษาด้วยยาฮอร์โมนไทรอยด์เมื่อมีข้อบ่งชี้ พยากรณ์โรคในผู้ป่วยโรคนี้ค่อนข้างดี

ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิหัวหน้างานโรคต่อมไร้ท่อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า อาการของโรคฮาชิโมโต ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น เกิดเป็นคอพอกที่ไม่มีอาการเจ็บปวด อาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หน้าบวม รู้สึกหนาวง่าย ผิวแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

สำหรับวิธีการดูแลสุขภาพ แนะนำรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ในวัยทำงานใช้ชีวิตให้สมดุล แบ่งเวลาทำงานที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น คอโตขึ้น บวม น้ำหนักขึ้นมาก ควรพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคไทรอยด์ในครอบครัว

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,865 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2566