การสร้างสังคมผู้สูงวัย

18 ธ.ค. 2565 | 11:54 น.

การสร้างสังคมผู้สูงวัย : คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,845 หน้า 5 วันที่ 18 - 21 ธันวาคม 2565

 

พักนี้ผมมีแต่เรื่องของผู้ใหญ่ที่นับถือ เข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ส่วนใหญ่มักมีอาการป่วยกึ่งๆ ติดเตียงกันทั้งนั้น ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า คนเราเมื่อแก่ตัวลงไป สักวันหนึ่งก็ต้องเจ็บป่วยแล้วก็ต้องจากไป เพียงแต่ใครจะจากไปในสภาพอย่างไร? 

 

นั่นก็คงต้องปล่อยให้เป็นเพราะผลบุญของแต่ละคน ที่สั่งสมกันมาไม่เท่าเทียมกันละครับ ซึ่งบางคนก็จากไปอย่างสบาย ไม่ต้องเจ็บปวดมากนัก หรือนอนหลับแล้วก็จากไปเลย ในขณะที่บางคนกว่าจะสิ้นลมและจากไปได้ ก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย จนสร้างภาระต่างๆ ให้แก่ลูกหลาน ที่ต้องมาคอยเฝ้านอนดูแลกันไป 

 

ผมพูดคล้ายๆ ปลงตกอย่างไรไม่รู้นะครับ แต่ต้องบอกว่าตัวผมเอง ยังโชคดีที่ยังคงมีร่างกายแข็งแรงดีอยู่ และไม่ได้มีโรคประจำตัวใดๆ เลยครับ

 

 

การใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างไรให้ไม่ต้องมีแต่ความเจ็บป่วยมากลํ้ากลาย ต้องบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดมีอยู่ 3 ประการคือ 

 

1. การรับประทานอาหารที่มีคุณค่า และถูกหลักอนามัย ไม่ทานอาหารที่ไร้ประโยชน์หรือมีผลร้ายต่อร่างกาย ซึ่งคำว่า “อาหาร” นั้น นอกจากอาหารที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีอาหารที่เป็นนามธรรมด้วย ไม่ว่าอะไรหรือสิ่งใดก็ตาม ที่คนเราสามารถเสพเข้าสู่ร่างกายได้ เราควรจะให้คำนิยามของคำนั้นว่า “อาหาร” ทั้งหมด 

 

 

การสร้างสังคมผู้สูงวัย

 

 

ดังนั้น การเสพสิ่งของต่างๆเข้าสู่ร่างกายเรา เราจึงต้องเลือก ที่จะเสพเอาแต่สิ่งดีๆ เข้าสู่ร่างกายของเรา ต้องระลึกไว้เสมอว่า ทุกสิ่งที่เข้าสู่ร่างกาย จะต้องมีคุณค่าต่อร่างกายในทางบวกเท่านั้น ถ้าสิ่งไหนเป็นผลร้ายต่อร่างกาย ก็ควรจะต้องงดเว้นเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ไขได้ครับ

 

 

การดูแลสุขภาพร่างกายเรา ซึ่งสิ่งที่ส่งผลต่อการสร้างความสมดุลของร่างกาย นอกจากอาหารแล้ว ยังมีประการที่ 2 คือ การออกกำลังกาย ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้ร่างกายเราปราศจากการเจ็บป่วยได้ 

 

ดังนั้น ควรจะต้องรีบเริ่มการออกกำลังกายได้แล้ว ซึ่งเรื่องการออกกำลังกายนี้ ส่วนตัวผมเองก็ไม่ค่อยได้ไปออกกำลังกายตามสนามกีฬา หรือตามโรงยิมฯ ต่างๆ ส่วนใหญ่ผมมักจะใช้เวลาทำงานด้วยการเดินเหินเยอะๆ และการขยับร่างกายมากๆ ซึ่งผมก็ได้แต่คิดเอาเองว่า ได้ผลเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องทำการออกกำลังกายให้หักโหมจนมากเกินไป เพราะเราต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายเราเป็นสำคัญครับ

 

ประการสุดท้าย คือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้แก่ตนเอง เพราะการที่คนเราหมกตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของวัตถุที่อยู่รายล้อมตัวเรา หรือ สภาพอากาศที่มีแต่มลภาวะที่นับวันจะเลวร้ายลงทุกวัน ทำให้ลมหายใจที่เราต้องสูดเอาสิ่งไม่ดีเข้าสู่ร่างกาย จะมี แต่อันตรายมากขึ้น 

 

หรือสภาพแวดล้อมของสังคม ที่มีแต่สิ่งที่ทำให้จิตใจเราหมองเศร้า หรือแม้กระทั้งสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย ที่มีเพียงห้องหับที่สกปรก หรือ รกรุงรัง ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของเราหม่นหมองไปด้วย เราสามารถเลือกสถานที่อยู่ที่มีสภาพเหมาะสมกับเราได้ 

 

ดังนั้น การที่เราจะทำให้ชีวิตบั้นปลายของตัวเอง ที่มีเวลาหลงเหลืออยู่ในโลกใบนี้เพียงไม่กี่ร้อยสัปดาห์ ให้เป็นชีวิตอย่างมีคุณค่า ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่ทำให้คนเราก่อนที่จะจากไปอย่างสบาย ไม่ต้องมีสิ่งที่ต้องเป็นห่วง หรือกังวลใจหลงเหลืออยู่ในจิตใจเราเองครับ

 

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด เราคงต้องเสาะแสวงหาสิ่งต่างๆเหล่านั้น เข้ามาสู่วงจรชีวิตของเราให้ได้ บางอย่างต้องใช้เงินตราในการซื้อหามา แต่บางอย่างเราเพียงแค่เสาะแสวงหาด้วยตัวเราเองก็ได้ไม่ยากเย็นนักครับ 

 

สิ่งที่ไม่ต้องซื้อหามาด้วยเม็ดเงิน ตัวอย่างเช่น การคบหาเพื่อนฝูงที่มีศีลตรงกัน มารวมตัวอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวระยะเวลาสั้น หรือระยะยาวนาน ก็สามารถแสวงหามันมาได้ ด้วย “การสร้างมิตรภาพ” ที่บางครั้งเราก็หามันมาอย่างไม่ยากลำบาก เพียงแต่บางครั้ง เราสามารถหามาได้ด้วยความมีนํ้าใจที่ดีต่อกัน 

 

หรือหากการคบหาเพื่อนด้วยจิตใจที่มิได้คิดจะเอาเปรียบเพื่อนฝูง หรือด้วยจิตใจที่ขาวสะอาด หรือด้วยความมีนํ้าใจต่อเพื่อนฝูง ผมก็คิดว่า เราสามารถแสวงหาเพื่อนที่ดีได้อย่างไม่ยากเลยครับ 

 

ดังนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ครับ ให้เลิกคิดที่เกรงกลัวการได้เปรียบเสียเปรียบเพื่อนฝูง ด้วยการแสดงความมีในใจต่อเพื่อนๆ แล้วเราจะได้สภาพแวดล้อมที่ดีมาอยู่กับตัวเอง เสมอครับ