บทเรียน“ซิปเม็กซ์” เร่งล้อมคอกลงทุนดิจิทัล

23 ก.ค. 2565 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 15:42 น.

บทบรรณาธิการ

ในที่สุดวิกฤตคริปโทก็ขึ้นฝั่งถึงไทย ค่ำวันที่ 20 ก.ค. 2565 นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย แถลงด่วนผ่านเฟซบุ๊ก ระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโทเคอร์เรนซีของนักลงทุน โดยให้เหตุผลว่า ตลาดเกิดความผันผวน และมีปัญหาทางการเงินจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก ที่อยู่เหนือการควบคุของบริษัท จึงตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว เพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม


เหตุที่ซิปเม็กซ์ฯ ประกาศหยุดถอน เนื่องจาก Celsius แพลตฟอร์มกู้ยืมสินทรัยพ์ดิจิทัลระดับโลก ซึ่งมีเจ้าหนี้กว่าแสนราย มูลหนี้กว่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยื่นขอล้มละลาย จะครบกำหนดการลงทะเบียนเจ้าหนี้ ซึ่งมีซิปเม็กซ์ โกลบอล สิงคโปร์รวมอยู่ด้วย เกรงจะเกิดการแห่ถอนของนักลงทุนจนเสียหายจึงปิดระบบชั่วคราว

ปัญหาที่กระทบถึงนักลงทุนไทย มาจากผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ที่ลูกค้าฝากสินทรัพย์ไว้ โดยสินทรัพย์ดังกล่าวจะเก็บไว้กับ Zipmex global ที่สิงคโปร์ ที่นำไปลงทุนต่อใน Celsius network ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ BTC ETH USDT และ USDC มีปัญหาจากภาวะราคาเหรียญดิจิทัลดิ่งเหวในช่วงที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่า Zipmex Global ได้นำเงินไปลงทุนกับ Celsius และ Babels finance เป็นจำนวนเงินรวม 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท ยังไม่มีละเอียดว่า ในจำนวนนี้เป็นของนักลงทุนไทยเท่าไหร่


กรณีที่เกิดขึ้นนี้เกิดคำถามว่า เวลาซื้อเหรียญดิจิทัลจากนักลงทุน Exchange ต้องเก็บรักษาเหรียญนั้นไว้หรือไม่ มีหลักเกณฑ์อย่างไร จะตรวจสอบอย่างไร สำหรับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปลงทุนต่อ หรือปล่อยกู้เก็งกำไร เนื่องจากหากเกิดความเสียหายจะกระทบถึงนักลงทุนดังที่เกิดขึ้น

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีหนังสือให้ซิปเมกซ์ ชี้แจงรายละเอียดเหตุดังกล่าว พร้อมผลกระทบที่มีต่อลูกค้า โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้นำส่งข้อมูลต่อ ก.ล.ต. โดยเร็ว


เหรียญคริปโทหรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ยุคใหม่จากความก้าวหน้าเทคโนโลยีดิจิทัล มีประสิทธิภาพสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าบริการทางการเงินที่เป็นทางการปัจจุบัน แต่ก็มีความเสี่ยงเนื่องจากยังไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย การออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลเกิดขึ้นไม่ทันพัฒนาการของเทคโนโลยี


การเติบโตของน่าตื่นตาของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ราคาเหรียญคริปโทขยับเพิ่มไม่หยุดมีอัตราเติบโตนับร้อยนับพันเท่าจากเริ่มต้น ดึงดูดนักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลให้ดันมาลงทุน แม้จะมีเสียงเตือนมาโดยตลอดว่าเป็นตลาดที่มีความเสี่ยง และไม่มีสินทรัพย์แท้จริงรองรับ


อย่างไรก็ตาม ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นพัฒนาการตามเทคโนโลยี หน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐต้องเร่งออกหลักเกณฑ์กำกับการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดกติกาที่ชัดเจน เป็นธรรม คุ้มครองสิทธินักลงทุน เกิดประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินสมสมัย ขณะที่นักลงทุนเองก็ต้องบริหารความเสี่ยงของตนเองให้เหมาะสม ไม่เกินตัว เพราะ“การลงทุนมีความเสี่ยง”