ตุลาฯ นี้เกษียณแล้ว เปลี่ยนผ่านจากวัยทำงานเป็นวัยเกษียณอย่างไรให้ราบรื่น

29 ต.ค. 2564 | 04:09 น.

โดย : วิภา เจริญกิจสุพัฒน์ นักวางแผนการเงิน CFP®สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

เชื่อว่าภาพหลังเกษียณของทุกคนคือ พักผ่อน สบาย สบาย อยากทำอะไรทำได้อิสระ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่เกษียณแล้วก็อาจมีความกังวล ไม่แน่ใจว่าเงินออมทั้งหมดที่มีอยู่จะพอใช้หลังเกษียณหรือไม่

บางท่านเกษียณได้เงินก้อน เข้ามาปรึกษาว่าอยากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนจะลงทุนอะไรดี สิ่งที่ต้องทำก่อนการนำเงินไปลงทุนคือการรวบรวมเงินหลังเกษียณทั้งหมด แล้วประมาณการรายจ่ายเทียบกับเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเงินที่เตรียมไว้เพียงพอหรือไม่ ควรนำเงินไปลงทุนที่ไหนที่เหมาะสม

นี่คือการเปลี่ยนผ่านวัยทำงานมาเป็นวัยเกษียณ (transition into retirement) การเข้าใจสถานะปัจจุบันทำให้เกิดทางเลือกที่ชัดเจนว่าเงินออมพอตามวิถีชีวิตที่ต้องการ (Life Style) หรือไม่ ถ้าไม่พอก็มีทางเลือกได้ว่าจะต้องหารายได้เพิ่มหรือเลือกที่จะใช้จ่ายตามเงินออมเท่าที่มีอยู่

ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าหลังเกษียณรายได้ที่เคยไหลเข้ามาจะหยุด รายรับที่จะเข้ามาแทนคือแหล่งเงินหลังเกษียณ ลองดูภาพแหล่งรายได้ เทียบกับค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณกับหลังเกษียณ ตารางด้านซ้ายรายรับมาจากรายได้จากการทำงาน ตารางด้านขวารายรับมาจากเงินออมและสวัสดิการจากภาครัฐ รายรับด้านขวาคือสิ่งที่เราต้องรวบรวม เทียบกับประมาณการรายจ่ายหลังเกษียณ

 

ตุลาฯ นี้เกษียณแล้ว เปลี่ยนผ่านจากวัยทำงานเป็นวัยเกษียณอย่างไรให้ราบรื่น

 

ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำลำดับแรกคือ สำรวจแหล่งเงินทดแทนรายรับหลังเกษียณ จะมีอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับอาชีพ ทำงานบริษัทเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ เงินออมก้อนใหญ่คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินชดเชยตามกฎหมายกรณีเกษียณตามเงื่อนไขขององค์กรที่สังกัด

 

ตุลาฯ นี้เกษียณแล้ว เปลี่ยนผ่านจากวัยทำงานเป็นวัยเกษียณอย่างไรให้ราบรื่น

 

ลำดับความคิด*

 

  • 1.รวบรวมแหล่งเงินทดแทนรายรับหลังเกษียณ
  • 2.หลังเกษียณมีโครงการหรือเป้าหมายที่ต้องใช้เงินก้อนเท่าไรให้แยกเงินก้อนนี้ออกมาก่อน
  • 3.ประมาณการอายุขัย ใช้อายุเฉลี่ยปู่ย่าตายาย โดยบวกเผื่อไป 10 ปี เช่นอายุเฉลี่ยปู่ย่าตายาย 80 ปี บวก 10 อายุประมาณการคือ 90 ปี (แนวโน้มสถิติโดยรวมอายุยืนขึ้น)
  • 4.คำนวณจำนวนปีระหว่างอายุเกษียณและอายุขัย เช่น เกษียณอายุ 60 อายุขัยประมาณการ 90 จำนวนปีหลังเกษียณคือ 31 ปี
  • 5.ประมาณการ แหล่งเงินเกษียณที่มีอยู่ ใช้ถึงสิ้นสุดอายุขัยใช้ได้ปีละเท่าไร โดยนำ 1 - 2 คงเหลือเท่าไร หารจำนวนปีหลังเกษียณ (4)
  • 6.ประมาณการรายจ่ายหลังเกษียณต่อเดือนแล้วคำนวณเป็นรายจ่ายต่อปี
  • 7.เปรียบเทียบแหล่งเงินเกษียณเฉลี่ยต่อปี (5) กับประมาณการรายจ่ายต่อปี (6)
  • 8.เตรียมเงินสดพร้อมใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย 2 ปี แรก ส่วนที่เหลือลงทุนความเสี่ยงต่ำ - ปานกลาง เฉลี่ยผลตอบแทน 3-4%
  • 9.หลังเกษียณจัดทำงบประมาณรายจ่ายต่อเดือน และจดบันทึกรายจ่ายทุกครั้งที่จ่ายโดยมีงบประมาณรายจ่ายควบคุม จำนวนเงินที่จ่ายได้แต่ละรายการ ปรับแต่งงบประมาณรายจ่ายในเดือนถัดไปสำหรับรายการที่ทำงบประมาณไว้สูงหรือต่ำเกินไป จดรายจ่าย 1-2 ปี จะทำให้เห็นโครงสร้างรายการรายจ่ายของวิถีการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

 

*เพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานความรู้การเงินสามารถเข้าได้ และประมาณการสถานะปัจจุบันได้ บทความนี้จึงไม่มีการคำนวณด้วยสูตรการเงินเชิงลึก

 

                                                                      ตัวอย่าง
 

  ตุลาฯ นี้เกษียณแล้ว เปลี่ยนผ่านจากวัยทำงานเป็นวัยเกษียณอย่างไรให้ราบรื่น

 

วิธีสำรวจสถานะปัจจุบันนี้สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีการวางแผนจริงจังล่วงหน้าในวัยทำงาน และต้องการวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณกับแหล่งเงินเกษียณที่มี

จากตัวอย่างจะทำให้พอทราบว่าประมาณการรายจ่ายตามงบประมาณที่ประมาณการไว้สูงกว่าเงินที่เตรียมไว้ไม่มาก ซึ่งมีทางเลือกในการบริหารจัดการดังนี้

 

  • 1.ควบคุมการใช้จ่ายเท่าที่แหล่งเงินหลังเกษียณมี โดยปรับงบประมาณรายจ่ายใหม่ให้อยู่ในเงินที่ใช้ได้ต่อเดือน และจดค่าใช้จ่ายต่อเนื่องในทุกๆ ปี
  • 2.สร้างรายได้หลังเกษียณ (ถ้าทำได้) อาจจะใช้ทักษะจากอาชีพก่อนเกษียณสร้างงาน หรือสร้างอาชีพจากงานอดิเรกที่ชอบ หรืออาชีพเดิมของครอบครัว เช่น ทำอาหาร ปลูกผักสลัด ฯลฯ
  • 3.กันเงินสำหรับค่าใช้จ่าย 2 ปีแรกของการเกษียณ และแบ่งเงินก้อนที่เหลือออกเป็น 3 ส่วน ลงทุนในความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนความหวังเฉลี่ย 1-2%ต่อปี เพื่อใช้ในช่วง 10 ปีแรก ส่วนที่ 2 ลงทุนความเสี่ยงปานกลางผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย 3-4%ต่อปี สำหรับช่วง 10 ปีถัดไป และส่วนที่ 3 ลงทุนความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูงผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย 5-6%ต่อปี สำหรับช่วง 10 ปีสุดท้าย
     

คนที่เกษียณและกำลังเกษียณในช่วงไม่กี่ปีนี้ ส่วนมากจะไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเกษียณที่ต้องเตรียมล่วงหน้า ดังนั้นการวางแผนการใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากวัยทำงานมาเกษียณได้ราบรื่นมากกว่าไม่มีการวางแผน

จะดีกว่ามากสำหรับคนรุ่นหลังที่ยังทำงานอยู่และเกษียณในอีก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีข้างหน้า กำหนดเป้าหมายจำนวนเงินเกษียณที่ต้องการตามวิถีชีวิตที่ต้องการ วางแผนการออมและลงทุนอย่างเป็นระบบ ช่วงเกษียณจะสามารถใช้ชีวิตอิสระ สบายๆ ได้อย่างภาพฝันที่ตั้งใจ

 

ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย