จาก “ซานติก้า-เมาท์เทน บี” ถึงเวลารื้อระบบ กำกับธุรกิจบริการ

18 ส.ค. 2565 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 07:06 น.

บทบรรณาธิการ

ผ่านมา 10 วัน เหยื่อเพลิงไหม้เมาท์เทน บี ผับดังสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 ก็เสียชีวิตอีกราย รวมล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 19 คน มีผู้บาดเจ็บประมาณ 50 คน ที่บาดเจ็บหนักหมอต้องดูแลใกล้ชิดอีกราว 5-6 ราย หลายครอบครัวเดือดร้อนหนัก

 

ด้านคดี ศาลอาญาจังหวัดพัทยา ออกหมายจับนายสมยศ ปั้นประสงค์ ที่ตำรวจมีหลักฐานเชื่อมโยงว่าเป็นเจ้าของตัวจริง มิใช่นายพงษ์ศิริ ปั้นประสงค์ หรือ “เสี่ยบี” บุตรชายวัย 27 ปีกับภริยา ที่ออกหน้ารับเป็นเจ้าของกิจการมาแต่ต้น ขณะที่ผู้เสียหายบางส่วนตั้งทนายดำเนินคดี และเรียกร้องให้โอนคดีให้กองปราบฯทำแทนตำรวจพื้นที่ เพราะไม่มั่นใจการใช้อิทธิพลแทรกแซง 

เหตุครั้งนี้ เหมือนซํ้ารอยเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ย่านวัฒนา กรุงเทพฯ เมื่อปี 2552 ที่มีผู้เสียชีวิต 61 ราย และบาดเจ็บกว่า 200 คน และหลังเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ มีการออกกฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555 แบ่งเป็น 6 ประเภทตามขนาดพื้นที่ และลักษณะการใช้งาน กำหนดทางออกทางหนีไฟ สอดคล้องกับจำนวนคน ให้โครงสร้างหลักและโครงสร้างหลังคา ต้องมีอัตราทนไฟ พร้อมอุปกรณ์ป้องกัน เครื่องดับเพลิง หัวจ่ายนํ้าดับเพลิง เป็นต้น เพื่อปิดจุดอ่อนที่ใช้อยู่เดิม

 

แต่ยังมีเหตุเพลิงไหม้สถานบริการอยู่เนือง ๆ โดยผับเมาท์เทน บี นอกจากขออนุญาตผิดประเภทแล้ว ที่ตายมากเนื่องจากออกได้ทางเดียว ขนาดเล็กไม่พอรองรับ ขณะที่ประตูข้างและหลังถูกล็อกกุญแจ และมีของตั้งขวาง โดยไฟเริ่มไหม้จากฝ้าเพดานและร่วงลงมาติดเชื้อเพลิงด้านล่าง อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่

 

บทเรียนเพลิงเผาผับเมาท์เทน บี สะท้อนการประกอบธุรกิจสถานบริการ ที่เจ้าของตัวจริง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจตัวจริงหรือคนมีสี มักอยู่หลังฉาก แล้วตั้ง “ตัวการเชิด” ออกหน้าแทน เพื่อจำกัดความรับผิดและลดความเสี่ยงของตนเอง เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่หลับตาข้างหนึ่ง เกิดช่องโหว่ “การบังคับใช้” จนเกิดเหตุสลดซํ้าแล้วซํ้าเล่า 

มาตรการเชิงเยียวยา ที่ผู้เสียหายจะดำเนินการทางคดี เป็นสิทธิตามกฎหมาย ขณะที่มาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุนั้น ถึงเวลาต้องบูรณาการทั้งระบบ เพื่อกำกับให้ธุรกิจบริการมีความรับผิดชอบต่อลูกค้ามากขึ้น อาทิ ก่อนเปิดอาคารต้องผ่านมาตรฐานทุกข้อกำหนด ใบอนุญาตประกอบการมีรอบเวลาเพื่อตรวจซํ้าทำนองต่อใบอนุญาตประจำปี ติดประกาศการอนุญาตใช้ให้ลูกค้าเห็นชัดเจนก่อนเข้าใช้ ตรวจร่วมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้เพื่อลดปัญหาอิทธิพลท้องถิ่น หรือความเกรงใจของผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ควรมีหน่วยงานตรวจสอบกลาง ส่งทีมจากนอกพื้นที่ไปตรวจสอบสถานบริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประสบภัยจากการเข้าใช้อาคารสาธารณะ โดยเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนจากผู้ประกอบการสถานบริการ หรือเจ้าของอาคารที่มีผู้เข้าไปใช้งานจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยสอดส่องแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายที่หลบเลี่ยง และติดตามฟ้องร้องเรียกชดใช้ความเสียหายจากผู้กระทำผิดแทนเหยื่อ เป็นต้น

 

ถึงเวลาที่ต้องร่วมกันสังคายนาระบบกำกับธุรกิจบริการ เพื่อความปลอดภัยของสังคมไทย