หลังจากที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 และการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ดำเนินการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้จ่ายดังกล่าวส่วนใหญ่ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของประเทศ แต่เป็นการใช้จ่ายในด้านต่างๆ
เช่น โครงการ Medicare และ Social Security ที่เป็นการใช้จ่ายที่ไม่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือ Non-productive spending นำไปสู่การขาดดุลการคลังที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า จะทำให้เกิดปัญหาทางการคลังที่รุนแรง หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายการคลัง
ในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 Fitch Ratings บริษัทจัดอันดับเครดิตระดับโลกได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกา (Sovereign Credit Rating) จาก AAA เป็น AA+ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สอง ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
โดยการปรับลดนี้เกิดจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถจัดการหนี้สิน และการใช้จ่ายภาครัฐได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อนถึงสถานะการคลังของสหรัฐฯ ที่อาจอ่อนแอลงเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต
แม้จะพ้นช่วงวิกฤตมาแล้ว แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ต่อ GDP ก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย Fitch คาดว่า ในปี 2025 สหรัฐฯ จะมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ถึง 118.4% ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีอันดับเครดิต AAA ที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะเฉลี่ยอยู่ที่ 39.3% และแม้แต่ประเทศที่มีอันดับเครดิตระดับ AA ก็ยังมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะเฉลี่ยอยู่ที่ 44.7% ซึ่งต่ำกว่าของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ หมายถึงภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถนำรายได้จากภาษีไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ การลงทุนในโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้มากนัก
ในกรณีที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ขยายตัวได้ตามที่คาดหวัง หรือหากเศรษฐกิจถดถอย ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่สามารถลดลงได้ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการจัดการหนี้สาธารณะต่อไปอีก
แล้วการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างไร การปรับลดอันดับเครดิต จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่นักลงทุนเริ่มมองเห็นความเสี่ยงในหนี้สินของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ หากสถานการณ์ทางการคลังของสหรัฐฯ ยังคงไม่ดีขึ้น อาจส่งผลให้การปรับลดอันดับเครดิตเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งจะทำให้สถานะของดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลกตกอยู่ในความเสี่ยง
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก แม้ว่าสัดส่วน GDP ของสหรัฐฯ ต่อ GDP โลกจะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังถูกใช้เป็นสกุลเงินหลักในการค้าระหว่างประเทศ
การก่อหนี้ระหว่างประเทศ และการกู้ยืมจากต่างประเทศ แม้ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มลดสัดส่วนการถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ ในสำรองเงินตราต่างประเทศก็ตาม
โดยจากข้อมูล Composition of Official Foreign Exchange Reserves ล่าสุดที่รายงานโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนในสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก ลดต่ำลงเหลือประมาณ 59% ณ ไตรมาสสาม ของปี 2567 ซึ่งถือเป็นการลดลงที่ต่อเนื่องจากระดับประมาณ 70% ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
แม้ว่าดอลลาร์สหรัฐฯ จะสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปบางส่วน แต่ก็ยังไม่ได้ถูกทดแทนโดยสกุลเงินหลักอื่นๆ เช่น ยูโร เยน หรือ ปอนด์ และหลายท่านอาจจะคาดว่าเป็นเงินหยวนจีน ที่มาครองสัดส่วนของดอลลาร์ที่ลดลงนี้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้การแตกแยกทางเศรษฐกิจและการจัดระเบียบใหม่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินระดับโลกออกเป็นบล็อกต่างๆ อาจทำให้บางประเทศหันไปใช้หยวนในการสำรอง ซึ่งรัฐบาลจีนเองก็ได้ผลักดันนโยบายหลายด้านเพื่อส่งเสริมให้หยวน มีความเป็น international มากขึ้น มีการพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามพรมแดน การขยายวงเงินสัญญาสวอป และการทดลองใช้เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของเงินสำรอง ที่เป็นเงินหยวนมีขนาดเพียงหนึ่งในสี่ ของการลดลงของดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น จากการที่บัญชีเงินทุนของจีนยังค่อนข้างปิด โดยเกือบหนึ่งในสามของสำรองหยวนทั้งหมดในโลกถือครอง โดยประเทศรัสเซีย (ด้วยเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียที่ต้องระมัดระวังมากในการถือดอลลาร์สหรัฐฯ)
แล้วอีกสามในสี่มาจากไหน คำตอบคือ มาจากสกุลเงินของเศรษฐกิจขนาดเล็ก ที่ไม่เคยมีบทบาทเด่นใน portfolio สำรองเงินตราต่างประเทศมาก่อน อาทิ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สิงคโปร์ วอนเกาหลีใต้ และ สกุลเงินจากประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การที่ประเทศเหล่านี้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการเงิน มีการเปิดบัญชีเงินทุนและมีประวัติการดำเนินนโยบายที่มีเสถียรภาพและมั่นคง สะท้อนว่า คุณลักษณะของผู้ออกสกุลเงินสำรอง ไม่ใช่เพียงแค่ขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีความลึกทางการเงินเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องมีนโยบายที่โปร่งใสและคาดการณ์ได้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เสถียรภาพของเศรษฐกิจและการตัดสินใจทางนโยบาย มีความสำคัญสำหรับการยอมรับในระดับนานาชาติ ส่งผลให้สกุลเงินเหล่านี้ ได้รับความสนใจมากขึ้นจากผู้จัดการสำรองของธนาคารกลาง เนื่องจากสามารถกระจายความเสี่ยงได้ และให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างน่าสนใจ
อีกทั้งยังสามารถซื้อ ขาย และ ถือครองได้ง่ายขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเงินดิจิทัลใหม่ๆ เช่น การสร้างตลาดอัตโนมัติ (automatic market-making) และ ระบบการจัดการสภาพคล่องอัตโนมัติ (automated liquidity management systems) ทำให้การซื้อขายสกุลเงินของเศรษฐกิจขนาดเล็กทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนที่ต่ำลง
ยกตัวอย่างประเทศที่แม้จะเป็นพันธมิตรอย่างแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ อย่างประเทศอิสราเอลเอง ยังมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในสัดส่วนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยลดสัดส่วนการถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ ลง และเพิ่มการจัดสรรสำรองไปยังสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา หยวนจีน และ เยนญี่ปุ่น มากขึ้น
แต่การที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ และมีนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ดอลลาร์ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้บางประเทศเริ่มหันไปใช้สกุลเงินอื่นๆ ซึ่งทำให้ระบบการเงินระหว่างประเทศเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน การคว่ำบาตรทางการเงินและความเสี่ยงจากการถูกแช่แข็งของสกุลเงิน ทำให้หลายประเทศหันไปสะสมทองคำในฐานะส่วนหนึ่งของสำรองเงินตรา ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเก็บรักษาไว้ในประเทศได้อย่างปลอดภัย และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการถูกคว่ำบาตรได้
การสะสมทองคำในหมู่ธนาคารกลางของหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีทองคำยังคงมีสัดส่วนต่ำในสำรองเงินตราระหว่างประเทศ
ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระดับโลก กำลังเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น หลายประเทศกำลังทบทวนพันธมิตรการค้าของตนใหม่ โดยพิจารณาจากข้อกังวลทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงแห่งชาติ การไหลของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ก็ถูกเปลี่ยนทิศทางไปตามเส้นทางทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นกัน
หากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการถอยห่างจากกฎเกณฑ์การมีส่วนร่วมระดับโลก ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ครอบคลุมช่วงเวลาประมาณ 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การค้าเป็นเครื่องมือหลักในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลง จะทำให้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ specialization ลดลง ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด หรือ economy of scale ลดลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันลดลง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Brexit ที่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร เนื่องจากความเชื่อมโยงที่มากมายระหว่าง ยุโรป แล ะสหราชอาณาจักรก่อนหน้านั้น
นอกจากนี้ การแตกแยกทางการเงินกอปรกับ FDI ที่ลดลง จะจำกัดการสะสมทุน ส่งผลต่อการจัดสรรทุน ราคาสินทรัพย์ ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ อาจถูกแยกออกตามแนวทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่ๆ ที่มีการทำงานร่วมกันจำกัดหรือไม่มีเลย ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพลงและนำไปสู่การมีมาตรฐานและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน
การแตกแยกทางการเงินจึงมีผลให้ risk sharing ระหว่างประเทศอ่อนแอลง ส่งผลให้ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาภายในประเทศ
เมื่อมองกลับมาที่ประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ดูเหมือนจะได้รับอานิสงส์จากการแตกแยกทางการค้า ระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ แต่หากการแตกแยกทวีความรุนแรงขึ้น การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) ที่ลดลงจากการที่การผลิตบางส่วนอาจถูกย้ายกลับไปยังประเทศต้นทาง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศที่กำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก จากการที่ต้องเผชิญปัญหาในการหาตลาดและซัพพลายเออร์ใหม่ซึ่งมีต้นทุนที่สูง
นอกจากนี้ การแยกตัวทางเศรษฐกิจยังอาจลดการกระจายความรู้ (Knowledge Spillovers) ซึ่งเป็นหนึ่งในประโยชน์สำคัญจากการทำการค้าระหว่างประเทศ ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และหากการแบ่งแยกเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวลง และทุกประเทศ ทั้งประเทศที่ร่ำรวย และประเทศที่ยากจน จะสูญเสียในที่สุด
สุดท้าย การแยกตัว (fragmentation) ของเศรษฐกิจโลก อาจมีผลต่อการร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่างๆ เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งต้องการการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบในระดับโลก
กุญแจสำคัญในการหลีกเลี่ยงผลกระทบเหล่านี้ คือ การรักษาตลาดที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน เพื่อให้โลกสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในอนาคต