Trump Effect กับ ภาษี 37% ...ถึงเวลาสามัคคี

04 เม.ย. 2568 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2568 | 16:35 น.

Trump Effect กับ ภาษี 37% ...ถึงเวลาสามัคคี : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** ตลาดหุ้นทั่วโลกป่วนหนักหลังสหรัฐอเมริกา ที่นำโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ซึ่งข้อมูลคราวๆ เป็นการคิดคำนวณจากระดับ 50% จากฐานภาษีเฉลี่ยที่แต่ละประเทศ เก็บจากสินค้าสินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะในส่วนของประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ถือว่าโดนหนักเรียกเก็บมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ที่ 49% ลาว ที่ 48% เวียดนาม ที่ 46% พม่า ที่ 44% อินโดนีเซีย ที่ 32% มาเลเซีย และบรูไน ที่ 24% ฟิลิปปินส์ ที่ 17% สิงคโปร์ อยู่ที่ 10% และไทย ที่ 37% 

ขณะเดียวกัน มาตรการการขึ้นภาษีที่ว่า อาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยนของโครงสร้าง Supply Chain โลก” ที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้า ซึ่งเน้นความยืดหยุ่นมากกว่าประสิทธิภาพ และการประหยัดต้นทุนการผลิตเพียงอย่างเดียว  

รวมไปถึงมาตรการการขึ้นภาษีนี้ อาจกลายเป็น “บูมเมอแรง” ที่จะกลับไปเพิ่มความเสี่ยงของภาวะถดถอย และเพิ่มค่าครองชีพสำหรับครอบครัวในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น 

โดยในระยะสั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากกระบวนการเจรจาการค้ายืดเยื้อ และไร้ความคืบหน้า โดยเราประเมินว่า จีดีพี (GDP) อาจหดตัวในกรอบ -1.5% ถึง -2.0% ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าที่เคยเป็นสมมติฐานหลักก่อนหน้านี้ 

 อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเจ๊เมาธ์ เจ๊มองว่า ถึงตอนนี้หากใครคิดว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ หรือ สหรัฐอเมริกา จะมาสำนึกผิด จะมากังวลกับเศรษฐกิจที่จะเกิดภาวะถดถอย (Recession) หรือจะมาเห็นใจบรรดาประเทศที่ถูกขึ้นภาษี คงจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้แล้ว ตอนนี้สิ่งที่ประเทศไทย และคนไทย จะทำได้ ก็คงเป็นเรื่องของการหาวิธีในการบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงได้เท่านั้น... 

หากคิดในแง่ร้ายที่สุด (Worst case) จะพบว่า มูลค่าการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าของไทย ที่ระดับ 37% รวมไปถึงของประเทศอื่นในหลายระดับที่ถูกประกาศออกมา เป็นระดับเพดานสูงสุด ที่มีเอาไว้เพื่อดึงให้คู่ค้าของสหรัฐฯ ต้องหันมาเจรจาเพื่อให้ระดับการจัดเก็บภาษีปรับลงไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม....

โดยสินค้าของไทยที่จะโดนภาษีหนักที่สุดประกอบไปด้วย

1.ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐ คิดเป็น 9% ของการส่งออกรถยนต์ และคิดเป็น 6% ของการผลิตรถยนต์ ได้แก่ STANLY AH PCSGH TSC SAT INGRS และ GYT

2.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เน้นไปที่ DELTA KCE HANA และ CCET 

3.ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยาง ถุงมือยาง ไม่ว่าจะเป็น STA STGT NER TEGH และ TRUBB

4.สินค้าเกษตร เช่น ข้าว อาหารสุนัขและแมว ทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่า กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง มะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าว สับปะรดกระป๋อง CFRESH COCOCO PLUS MALEE TU ASIAN SUN SSF CPF ITC CM CHOTI AAI BRR CFRESH  

ผลกระทบทางอ้อมต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไทย ดังนี้

1.นิคมอุตสาหกรรม WHA AMATA NNCL PIN ROJNA อาจส่งผลกระทบให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อที่ดิน 

2.ธนาคารใหญ่ KBANK BBL SCB KTC TTB ส่งผลกระทบทางอ้อม ในแง่อัตราการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์เล็กน้อย 

หากมองลึกลงไปอีก กลับพบว่า มีหลายกลุ่มสินค้าเฉพาะ ซึ่งบางอย่างประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ กลุ่มผู้ส่งออกหลักของโลก เช่น ยางพารา ทั้งยางแท่ง ถุงมือยาง และยางรถยนต์ หรือ กลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารแปรรูป ที่ไทยร่วมกับประเทศอื่นอีกไม่กี่ประเทศในโลก เป็นผู้ส่งออกหลัก ซึ่งนี่ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่หากว่า ทางสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีเต็มเพดาน ก็จะกลายเป็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวอเมริกาเอง ซึ่งเจ๊เมาธ์มองว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อเมริกาจะต้องนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเจ๊เมาธ์ กรณีการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในรอบนี้เป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งปิดประตูในเรื่องของการตอบโต้ที่รุนแรงของประเทศเล็กอย่างไทย ตอนนี้ประเทศไทยสามารถทำได้เพียง “การเจรจา” หรือ อาจจับมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนรายอื่น เพื่อเสริมอำนาจในการต่อรองให้มากขึ้น 

ขณะเดียวกันการกล่าวโทษกันไปมา ทั้งในส่วนของ นักการเมือง นักธุรกิจ และ ประชาชนในโลกโซเซียล ซึ่งอาจนำมาซึ่งการขยายความขัดแย้งกันเองในประเทศ ก็ควรถึงเวลาที่จะมองกลับมาเพื่อหาทางลดปัญหาภายในให้น้อยลง เพื่อค้นหาทางออกร่วมกัน

นาทีนี้ถ้าคนไทยเราไม่ช่วยกันเอง...ก็ไม่มีใครช่วยเราได้อีกแล้วเจ้าค่ะ