มะเร็งเต้านมกับสตรีผู้สูงวัย

07 ก.ย. 2567 | 05:50 น.

มะเร็งเต้านมกับสตรีผู้สูงวัย คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ก่อนผมยุ่งอยู่กับการจัดการงานศพของลูกผู้น้อง ที่ประสบปัญหามะเร็งปากมดลูก ก็ได้ทราบจากลูกผู้น้องของภรรยาผม ที่มาช่วยงานที่โรงงานเช่นเดียวกันกับลูกผู้น้องของผมที่เป็นผู้วายชนม์ว่า พี่สาวคนที่ติดกับเขาก็เพิ่งจะไปผ่าตัดเอาเต้านมออก เพราะเป็นมะเร็งเต้านม ผมก็เก็บความตกใจไว้ในใจ เพราะไม่อยากให้เขาใจเสีย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้การเป็นโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่พบเห็นกัยเยอะมากจริงๆ นั่นอาจจะเป็นเพราะวิวัฒนาการของอาหารการกิน หรืออาจจะเป็นเพราะปัจจุบันนี้ต่างใช้สารเคมี มาเป็นตัวเร่งความเจริญเติบโตทั้งของพืชและสัตว์อย่างมาก ทำให้อาหารที่ทานอยู่ในปัจจุบันนี้ ต่างมีสารเคมีตกค้างอยู่เยอะมาก หรืออาจจะเป็นเพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ากว่าในอดีตมาก จนทำให้ค้นพบโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นอย่างมาก หรือเป็นเพราะในอดีต คนเราพอมีโรคร้ายเข้ามาถึงตัว ก็ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง จนบางครั้งพอเสียชีวิตไป ก็ไปกล่าวโทษว่าห่าลงท้องบ้าง หรือไปโทษผีสางบ้าง ก็เป็นไปได้นะครับ 

เรื่องของโรคมะเร็งที่พบมากในวันนี้ ก็มีอยู่หลากหลายมาก แต่โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายแรงที่พบได้บ่อยในสตรีทั่วโลก โดยเฉพาะในสตรีผู้สูงวัย ความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งทำให้การตรวจพบและการรักษามีความสำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรนี้ ในบทความนี้ผมจึงจะนำเอาอาการของโรค ปัจจัยเสี่ยง การป้องกัน และรักษาบ้างเล็กน้อย ในสตรีให้เพื่อนๆที่เป็นสตรีผู้สูงวัย ได้อ่านไว้เป็นอุทาหรณ์นะครับ

อาการของมะเร็งเต้านม ถ้าหากตรวจพบในระยะเริ่มต้น แพทย์ก็จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งอาการของมะเร็งเต้านม อาจจะแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น จะพบก้อนเนื้อในเต้านม ซึ่งจะเป็นก้อนแข็งๆหรือเนื้อที่ผิดปกติในเต้านมเป็นสัญญาณที่พบบ่อยที่สุด แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวด ส่วนใหญ่คนทั่วไปก็จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ให้คลำหรือคลึงที่เต้านมในเวลาอาบน้ำ ถ้าพบความผิดปกติที่เต้านม ก็จะให้ไปพบแพทย์  เพื่อตรวจดูโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อความชัดเจนว่ามีความเสี่ยงหรือเปล่านั่นเองครับ อีกอาการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณเต้านม อาจมีลักษณะคล้ายผิวส้ม มีอาการแดง หรืออาจเกิดแผลเปิดขึ้น นั่นก็ต้องไปพบแพทย์โดยด่วนเช่นกันครับ

อาการบ่งบอกอีกอาการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงของหัวนม ที่อาจถูกดึงรั้งเข้าไปข้างใน หรือมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกจากหัวนม ซึ่งบางครั้งอาจมีอาการเจ็บปวดหรือบวมได้ ในบางกรณีอาจมีอาการเจ็บปวดหรือบวมบริเวณเต้านมหรือรักแร้ นั่นก็เป็นตัวบ่งชี้อีกหนึ่งอาการเช่นกันครับ

ส่วนใหญ่ปัจจัยเสี่ยงสตรีสูงวัยจะมีการเกิดมะเร็งเต้านม มากกว่าสตรีในช่วงวัยหนุ่มสาว ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น การสูงอายุเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักปัจจัยแรกสำหรับมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจัยต่อมาคือประวัติของครอบครัว ถ้าเคยมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้จะเพิ่มขึ้น  พันธุกรรมมีการกลายพันธุ์ในยีน BRCA1 และ BRCA2 ก็จะเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมอย่างมีนัยสำคัญครับ

อีกปัจจัยหนึ่งคือ การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับสูง เช่น การใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่คนยุคใหม่เป็นโรคมะเร็งเต้านมกันเยอะ คือการมีบุตรช้า เพราะคนรุ่นใหม่มักจะแต่งงานช้า จึงทำให้การมีบุตรครั้งแรกหลังอายุ 30 ปีไปแล้ว ก็จะเกิดโรคดังกล่าวนี้ได้ หรือสตรีบ้างท่านตลอดชีวิตไม่เคยมีบุตร ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้เช่นกัน พี่สาวคนโตของผมก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เพราะพี่สาวคนโตผมไม่เคยแต่งงานมาก่อน ท่านครองความโสดมาตลอดชีวิต จึงทำให้เป็นมะเร็งเต้านมในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน และจากไปด้วยโรคดังกล่าวเมื่อท่านอายุใกล้ 70 ปีครับ

แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่มีวิธีการที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น การตรวจเต้านมเป็นประจำ ซึ่งสามารถทำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือการตรวจโดยแพทย์ ก็สามารถช่วยในการตรวจพบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติได้เร็ว หรือการคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยการทำเอกซเรย์เต้านมหรือที่เรียกว่า แมมโมแกรม(Mammograms) เป็นประจำ ซึ่งการตรวจร่างกายประจำปี ก็สามารถเลือกให้มีการทำแมมโมแกรม(Mammograms)ไปด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดีครับ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ได้มีนวัตกรรมการตรวจหาทูมเมอร์มาร์คเกอร์ของมะเร็ง (Cancer Tumor markers) ด้วยการตรวจหาจาก DNA หรือการตรวจหาพันธุกรรมของมะเร็ง (Cancer Genetics)ได้แล้ว

นอกจากนี้การลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม สามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงสารพิษ สารเคมีที่อาจจะเกิดมะเร็ง เช่น สารจากควันบุหรี่ และสารเคมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้างชนิด(ไม่บอกนะครับว่ายี่ห้ออะไร? เดี๋ยวถูกฟ้อง...)

ส่วนการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคที่มีความซับซ้อนมาก และต้องการการดูแลรักษาอย่างละเอียด สตรีผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามอายุ การตรวจพบแต่เนิ่น ๆ การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาที่เหมาะสม สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและลดการแทรกซ้อนได้ การรักษาก็สามารถทำได้หลายวิธี แล้วแต่อาการหนักเบาของโรค เช่น การใช้การผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี การใช้เคมีบำบัด การรักษาด้วยฮอร์โมน ในปัจจุบันนี้การรักษายังคงวิวัฒนาการไปอีกหลายวิธี ต้องบอกว่า “โรคที่เป็นอันตรายมาก ย่อมมีนักวิจัยคิดค้นวิธีรักษามากกว่าโรคที่ไม่อันตราย” เพราะยิ่งมีความท้าทายมากเท่าไหร่ ยิ่งมีนักวิจัยอยากที่จะคิดค้นวิธีมากำจัดโรคมากขึ้นเท่านั้นครับ