งานใหญ่ ของ นายน้อย

21 ส.ค. 2567 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2567 | 10:14 น.

เศรษฐกิจไทยเหมือนมีกรรมและไม่พ้นเวรสักที ทันทีที่มีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ทำให้นายกเศรษฐา ทวีสินพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องสลายโดยปริยาย ทำหน้าที่ได้เฉพาะภารกิจปกติเท่านั้น

ทำให้นโยบายต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงไปด้วยตามหลักการนั้นมาตรการต่างๆ จะต้องนำมาทบทวนโดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งกระทบกับความเชื่อมั่นและความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างมาก 

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาได้โดยเร็ว ซึ่งก็คือคุณแพทองธาร ชินวัตร “นายน้อย” ของบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่กระบวนการทำงานทางด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องเริ่มพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยก็คือเงินดิจิทัล 

และส่วนนโยบาย 8 Hubs ของนายกฯ คนเก่า ที่เดิมก็เงียบอยู่แล้ว ก็คงหายไปพร้อม ๆ กับทีมงานของ “น้านิด” ซึ่งที่ผ่านมาตื่นเต้นกันอยู่วันเดียว คือวันประกาศนโยบาย จากนั้นหน่วยงานต่าง ๆประกาศนโยบายตัวเองออกมาตามมาตรการ 8 Hubs ก็คือกิจกรรมและภารกิจปกติของหน่วยงาน ไม่มีอะไรพิเศษจนเป็นความหวังได้มาก โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งจะว่าไปก็เหลืออยู่ตัวเดียวเท่านั้นสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ในปีนี้ ก็คือการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งหนทางข้างหน้าก็วิบากกรรมเหลือทน 
 

การเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “คุณอุ๊งอิ๊ง” ในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีเงาทมึนของคุณพ่ออยู่ข้างหลัง ซึ่งก็มีกิติศัพท์เหลือคณานับ แต่ก็เชื่อว่าคุณทักษิณจะไม่สั่งการแบบพิสดาร พิลึก และเสี่ยงภัยให้ลูกอิ๊งแน่นอน และนโยบายที่แนะนำน่าจะดูดีกว่านอมินีตัวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง เพราะไพ่ใบนี้อาจเป็นไพ่ใบสุดท้ายของตระกูลชินวัตรในเวทีการเมืองและอนาคตของพรรคเพื่อไทย และนายกฯ คนใหม่ก็ดูจะมีความคิดของตนเองพอประมาณ 

แต่โจทย์ที่ต้องทำให้ได้ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำหรับช่วงสามปีต่อจากนี้จะมีหลากมิติ ทั้งเพื่อประเทศ เพื่อประชาชนคนไทย และปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องทำเพื่อคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยในอนาคตด้วย 

โจทย์สำคัญที่วางอยู่ตรงหน้า “นายน้อย” คือ การออกแบบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้ขยายตัวอยู่ในอัตราที่คนพอเห็นฝีมือบ้าง เพราะตอนนี้ประมาณการไว้ที่ 2.5% แต่ดูทรงตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก และตัวเลขส่งออก รวมทั้งข่าวลบทางด้านการปิดกิจการและโรงงานแล้ว ผมว่าให้ได้เกิน 2% ก็ถือว่าพอได้ 

นั่นคือภาพที่คนไทยทุกคน ทั้งที่เป็นแฟนพรรคเพื่อไทย หรือเกลียด หรือเฉย ๆ จะรับทราบถึงฝีมือของคุณอุ๊งอิ๊งในการนั่งหัวโต๊ะ ครม. ครั้งนี้ และความท้าทายทีมงานในครั้งนี้ก็คือ การออกแบบมาตรการต่าง ๆ จะต้องตอบความคาดหวังผู้ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยมา เพราะเชื่อในคำสัญญาที่ให้ไว้ จำแม่น ๆ คือ แจกเงินดิจิทัล ขึ้นค่าจ้าง ราคาข้าวของและไฟฟ้าถูกลงทันที (ผมไม่ยุ่งกับเรื่องไม่เอาลุง ๆ) รวมทั้งการทำให้ภาพนโยบายและการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นภาพ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งคำนิยามของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้วัดที่ “อายุ” แต่วัดที่ “วิธีคิด” เพราะเราเห็นพวกนักการเมืองอายุน้อย ๆ แต่วิธีคิดแบบเดิม ๆ ก็เยอะ    
 

ผมขอบังอาจแนะนำในความคิดของผมนะครับ โดยพยายามดูเงื่อนไขทุกอย่างแล้วเข้าใจแบบนักการเมือง 

  • อย่างไรก็ต้องแจกเงิน แต่ต้องฉลาด เพื่อให้ได้ทั้งใจและประสิทธิภาพของประเทศ อาจแบ่งการให้เป็นสองส่วน เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สำหรับกลุ่มคนที่คิดว่าจำเป็น และเป็นกลุ่มที่การจับจ่ายต่อรายได้สูง คือ มีเงินก็ซื้อของกลุ่มนี้จะแจกผ่านระบบหรือเงินสดตามแต่ แต่ถ้าจะให้ได้ใจ แจกเงินเลยก็ได้ ผมเข้าใจในระบบราชการเรานั้น วิธีการที่ออกมาเน้นการป้องกันการรั่วไหล คิดลึกซึ้งมากว่าคนไทยทุกคนจะโกง เอาเปรียบระบบ เลยกำหนดวิธีการเสียจนขาดประสิทธิภาพ แม่ค้าไม่อยากเข้าร่วม คนใช้ก็รำคาญ ดูวุ่นวาย ในขณะที่ทุกประเทศแจกเงินสด มีโกงกันบ้าง แต่ประสิทธิภาพในภาพรวมในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังสูง และคนรับก็สะดวก ส่วนที่สอง ที่ผมว่าฉลาด ผมอยากให้สำหรับกลุ่มคนที่มองภาพรวมของประเทศ มองอนาคตที่ไกลออกไป ยังเห็นความหวังจากมาตรการนี้ของรัฐบาลว่าห่วงใย และวางรากฐานสำหรับประเทศในอนาคต โดยการแจกเงินเพื่อการพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพต่าง ๆ ของผู้คน แรงงาน และทุกคนที่อยากหาความรู้ ความชำนาญ ฝีมือต่าง ๆ ให้กับตนเอง สามารถได้รับเงินเพื่อการพัฒนาตนเอง อย่างน้อยก็เป็นการลงทุนในอนาคตให้กับประเทศ   
  • ต้องขึ้นค่าจ้าง แต่ต้องเฉลี่ย ปกติแล้ว ค่าจ้างแรงงานจะสูงหรือต่ำ ขึ้นกับปัจจัยสองอย่าง คือ อุปสงค์และอุปทานของแรงงานในแต่ละพื้นที่ แต่ละวิชาชีพ แต่ละอุตสาหกรรม และส่วนที่สอง ก็คือ ฝีมือและทักษะ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นการกำหนดตามกฎหมายให้ขึ้นกับค่าครองชีพ ระดับการดำรงชีพของแรงงานในพื้นที่นั้น ค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับตามค่าครองชีพ ส่วนในมุมของนายจ้างนั้น จะมีวิธีคิดในการจ้างงาน คือ คำนวณฝีมือแรงงานออกมาเป็นรายได้ (ความสามารถในการผลิตของคนงานคนนั้น คูณ ด้วยราคาสินค้า) เทียบกับค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้คนงานคนนั้น ถ้าค่าจ้างแพงกว่าก็ไม่จ้างก็แค่นั้น ดังนั้น หากให้มีการขึ้นค่าจ้าง นายจ้างก็ต้องดันให้ราคาสินค้าสูง แต่ถ้าจะกดราคาไม่ให้ขึ้น นายจ้างก็ขาดทุน เลิกจ้าง หากทนไม่ไหว ผมเห็นด้วยในการขึ้นค่าจ้าง แต่ต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก และให้เพิ่มมาก ในกรณีมีการพัฒนาฝีมือ หรือ labor productivity ให้ดีขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดและตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง การทำแบบนี้นายจ้างก็ไม่แบกภาระมาก ส่วนลูกจ้างก็ไม่อืดอาด และขวนขวายพัฒนาตนเอง ซึ่งดีกับภาพรวม   
  • ต้องปรับระบบ ไม่ใช่แค่ลด คำสัญญาทางการเมืองที่ค้ำคอนายกฯ คนใหม่นี้มาจากตอนหาเสียงที่สัญญาไว้ว่าพอมาเป็นรัฐบาลแล้วจะลดราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่ผ่านมาก็ใช้กลยุทธ์การอุดหนุนเป็นหลัก ผ่านกองทุนบ้าง เงินกู้บ้าง จนวันนี้หลายกองทุนเป็นหนี้จนไม่มีใครอยากให้กู้แล้ว ต้องขอรัฐบาลมาค้ำประกันเงินกู้ การอุดหนุนทำได้ง่าย แต่เป็นภาระทางการคลังมหาศาล ผมเชื่อว่าราคาพลังงานเหล่านี้สามารถลดลงได้ แต่ต้องดูทั้งระบบ ทั้งการจัดการการผลิตพลังงาน การประมูลซื้อขายพลังงานจากภาคเอกชน และโครงสร้างภาษี ซึ่งทุกจุดเชื่อมกันอย่างซับซ้อน ผมอยากให้รัฐแทรกแซงน้อยที่สุด ราคาขึ้นลงตามตลาด แต่รัฐเข้าไปบริหารความเสี่ยงของการผันผวนของราคาผ่านระบบตลาดที่รัฐมีผู้เล่นรายใหญ่เป็นของตนเอง ซึ่งน่าจะช่วยให้มีการบริหารด้านอุปสงค์ ได้มากกว่าการใช้การอุดหนุน   
  • ต้องคิดใหม่ ใช่อายุแค่น้อย ภาพของพรรคเพื่อไทยที่จะปรับตัวสู้กับพรรคประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับโอกาสในการปรับ ครม. ครั้งนี้ ผมเชื่อว่าคนไทยอยากเห็นรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารแต่ละกระทรวงนั้น ไม่เพียงแค่การบริหารนโยบายที่มีการออกแบบอย่างดี มีประโยชน์ในระยะสั้น และเป็นการวางรากฐานในอนาคตให้กับเรื่องนั้น ๆ แล้ว ยังต้องสามารถบริหารจัดการภายในหน่วยงานที่ตนเองดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาหลายปีมานี้เราเห็นภาพนโยบายที่ดี ๆ ของรัฐบาล เมื่อถอดลงสู่การปฏิบัติในระดับกระทรวง หรือสำนักงาน แล้ว กลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เหมือนรถยนต์รูปร่างสวยงาน เครื่องยนต์ดูทรงพลัง แต่คนขับยังงง ๆ เหมือนเดิม แถมยางล้อรถยังแบนอีก ก็คงพอมองเห็นภาพนะครับ ดังนั้น การทำงานแบบใหม่ คนที่มีวิธีคิดใหม่ ๆ น่าจะเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีชุดใหม่ของคุณอุ๊งอิ๊ง ผมยังยืนยันนะครับว่า อายุไม่สำคัญ คนรุ่นใหม่คือคนที่คิดฉลาดและไม่ติดกรอบเดิม ถือว่าคุณอุ๊งอิ๊งตอนนี้กำลังได้เปรียบพรรคคู่แข่ง เพราะสามารถคัดเลือก ทดสอบ คัดเฟ้น ฝึกหาประสบการณ์ในการบริหารประเทศของแม่ทัพตนเองในการทำศึกเลือกตั้งอีกสามปีข้างหน้าได้ตั้งแต่วันนี้    

ตอนนี้ต้องให้กำลังท่านนายกรัฐมนตรีใหม่ของเราในการบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงมากกว่าปัจจัยสนับสนุน จะไหวหรือไม่ ดูตอนตั้ง ครม. ก็คงพอรู้ว่าจะหวังอะไรได้มากน้อยขนาดไหน