JKN ปลายเดือนนี้...รู้เรื่อง

17 ม.ค. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 08:13 น.
2.0 k

JKN ปลายเดือนนี้...รู้เรื่อง คอลัมน์ เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

ยังไม่ทันที่จะจบเดือนมกราคม...แต่ดูเหมือนสิ่งที่เรียกกันว่า January Effect จะหมดโปรไปแล้วเรียบร้อย ขณะเดียวกันการที่ดัชนีหุ้นไทยหลุดลงไปต่ำกว่า 1400 จุด ในวันอังคารที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยจะดีสำหรับตลาดหุ้นไทย

อย่างแรก น่าจะเป็นเพราะความเห็นต่างระหว่างรัฐบาล กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย ที่ยังคงยืนอยู่ในระดับ 2.50% เนื่องจากภาครัฐเห็นว่า ดอกเบี้ยในระดับนี้สูงเกินไป จนอาจส่งผลนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ผลักดันออกมาไม่เห็นผล อย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ทาง ธปท. มองว่า การคงดอกเบี้ยในระดับนี้ เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่ควบคุมยังไม่ได้ดีอย่างที่ควร

อย่างที่สอง เป็นเรื่องที่ นายไล่ ชิง-เต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวัน จนเป็นเหตุให้ความขัดแย้งระหว่าง จีน-ไต้หวัน มีแนวโน้มว่าจะตึงเครียกมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ มีมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสหรัฐมีนโยบายที่หนุนไต้หวันอย่างชัดเจน

 

ท้ายที่สุดเป็นเรื่องความขัดแย้ง ที่กลายเป็นสงครามไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส รวมไปถึงการที่สหรัฐ และ พันธมิตร ได้โจมตีกลุ่มกบฏฮูติในเยเมน หลังจากกบฏฮูติโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงหลายครั้ง จนอาจลุกลามเป็นสงครามในตะวันออกกลาง รวมไปจนถึงการปิดทะเลแดงและช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งกระทบกับราคาน้ำมัน และการขนส่งสินค้าทั่วโลกนั่นเอง

มีข่าวว่าหุ้นผลการดำเนินงานของธนาคาร จะมีกำไรโดยรวมออกมาสูงถึง 2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหุ้นธนาคารใหญ่อย่าง KBANK BBL SCB KTB และ TTB ซึ่งน่าจับตาเป็นอย่างมาก เพียงแต่หากจะถามว่าหุ้นธนาคารในจังหวะนี้ยังน่าสนใจหรือไม่ เจ๊เมาธ์ก็คงต้องบอกว่า ถึงแม้ในตอนนี้ ราคาหุ้นของธนาคารยังถือว่ามีช่องว่างให้เล่นได้ แต่คงจะไม่ดีแบบที่ผ่านมาราคาหุ้นก็มาไกล ในขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยที่เคยเป็นขาขึ้น ก็ได้รับรู้ไปมากแล้ว

นอกจากนี้ แนวโน้มของหนี้เสียเงินกู้ที่อยู่อาศัย และเงินกู้ส่วนบุคคล ก็กำลังปรับตัวสูงขึ้น ทำให้แนวโน้มในการตั้งสำรองหนี้เสียในปีนี้ อาจจะต้องสูงตามไปด้วย

สรุปง่ายๆ ว่าตอนนี้หุ้นธนาคาร น่าจะถือได้ว่าเป็นเพียงจุดพักเงิน ที่ยังไม่รู้ว่าจะโยกไปลงทุนในหุ้นกลุ่มใด เพราะอย่างน้อยแม้จะไม่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ทำให้พอร์ตหุ้นพังนั่นเอง

 

หลังจากที่ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือ SPRC ปิดดีล การซื้อ “คาลเท็กซ์” จาก Chevron Asia Pacific Holdings Limited ในมูลค่าประมาณ 5.56 พันล้านบาท จนได้เป็นเจ้าของปั๊มคาลเท็กซ์ทั่วประเทศประมาณ 450 แห่ง ขณะที่ก่อนหน้านี้ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ก็ได้ซื้อ บมจ.เอสโซ่ หรือ ESSO เข้ามาจนทำให้ “บางจาก” มีสัดส่วนการถือหุ้น ESSO ทั้งสิ้นราว 76.3% รวมถึงตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนปั๊ม ESSO ให้เป็นปั๊ม “บางจาก” ทั้งหมดในอนาคต ส่งผลให้ตลาดค้าปลีกน้ำมันในประเทศไทย มีการแข่งขันมากขึ้น

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องการขยายธุรกิจ ที่มีเพียงแค่การกลั่นน้ำมัน และขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลงมาเล่นในตลาด Non-Oil ที่มากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของความพยายามในการเพิ่มสัดส่วน การครองตลาดของบริษัทที่ต้องลงมาเล่นกับบริษัทที่ไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน แต่มีปั๊มน้ำมันเป็นอันดับสองรองจาก OR (บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก) หรือ OR อย่างเช่น บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG นั่นเอง

แน่นอนว่าถึงแม้การทำธุรกิจปั๊มน้ำมัน อาจจะไม่ได้สร้างผลกำไรมากอย่างที่ควรจะเป็น แต่เจ๊เมาธ์บอกเอาไว้เลยว่า การทำธุรกิจปั๊มน้ำมัน เป็นธุรกิจที่ทำให้มีเงินสดหมุนเวียนในระบบที่สูงมากจนไม่น่าเชื่อ...

ขณะเดียวกันธุรกิจปั๊มน้ำมันก็สามารถที่จะต่อยอดในธุรกิจอื่นได้อีกมาก ดังนั้นจึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าการที่ทั้ง BCP และ SPRC เข้ามาบุกตลาดค้าปลีกน้ำมันเช่นนี้ จะมีแผนทางธุรกิจอื่นอย่างไรในอนาคต

ไม่ใช่แค่เพียง ITD ที่จะมีประชุมผู้ถือหุ้นกู้โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เป็นผู้ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนหุ้นกู้ของ ITD ซึ่งก็น่าจะจบลงในแบบที่ ITD ต้องการ แต่ในเดือนนี้กรณีหุ้นกู้ของ JKN ก็จะมีความชัดเจนเนื่องจากศาลล้มละลายกลาง ได้กำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 29 มกราคม 2567 ซึ่งถ้าหากศาลฯ ไม่อนุมัติให้ JKN เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ผลที่ตามมาจากการประเมินของ JKN ก็คือ

1. บริษัทฯ จะไม่มีเงินสดเพียงพอในการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน หากเจ้าหนี้ทุกรายเรียกร้องบริษัทฯ ให้ชำระหนี้คืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้า และบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. บริษัทฯ อาจจะต้องปิดกิจการ หรือ ถูกฟ้องร้อง จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และล้มละลาย อันจะทำให้ทุกฝ่ายเสียหายอย่างมาก

3. หุ้นของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีมูลค่า ทำให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบรวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

4. หากบริษัทฯ ต้องปิดดำเนินกิจการ หรือ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัทฯ ทุกคน ก็ประมาณว่าเหมือนจะเป็นการจับเอาผู้ถือหุ้น “เป็นตัวประกัน” แต่ก็นั้นหละ ในตอนที่มีสัญญาณว่าบริษัทไม่มีเงินพอที่จะมาจ่ายหนี้ ก็ไม่เห็นจะทำอะไร แต่พอมาถึงตอนนี้ก็จะมาขู่กันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เอาเป็นว่าปลายเดือนนี้รู้เรื่อง...

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3958 ระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค. 2567