การใช้จ่ายด้านสื่อ ในปี 2566

29 ธ.ค. 2566 | 16:01 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2566 | 16:07 น.

การใช้จ่ายด้านสื่อ ในปี 2566 : THOUGHT LEADERSHIP ผู้นำวิสัยทัศน์

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในพฤติกรรของผู้บริโภค ที่ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารที่สามารถค้นหาได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่เปรียบเสมือนห้องสมุดความรู้ขนาดใหญ่ทำให้ข้อมูลมากมายนั้นอยู่ใกล้เพียงปลายนิ้ว และแน่นอนว่าผู้ผลิตที่ต้องการจะนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆก็ต้องการที่จะสื่อสารและเสนอขายสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภค ดังนั้น เราจะมาดูข้อมูลของการใช้จ่ายด้านสื่อ ในปี 2566* ว่าการช่องทางใดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด

สัดส่วนในการใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ในช่องทางทีวี อยู่ที่ประมาณ 55%, วิทยุ 3%, หนังสือพิมพ์ 2%, นิตยสาร 1%, โรงภาพยนตร์ 2%, สื่อนอกบ้าน 8%, สื่อขนส่ง การเดินทาง 6%, ห้าง ร้านค้า 1% และ อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 23%

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นในเมื่อช่องทางอินเตอร์เน็ตดูจะมีบทบาท ใกล้ตัว และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในชีวิตประจำวันได้มากกว่าสื่ออื่นๆ แต่สื่อทีวีกลับมีสัดส่วนการใช้จ่ายมากที่สุด แม้ว่าจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายลดลงจากปีที่ผ่านๆมา นั้นเป็นเพราะว่า

การใช้จ่ายด้านสื่อ ในปี 2566

1. สื่อทีวีเองก็มีการปรับตัวด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการฉายผ่านสตรีมมิ่ง (Streaming) ในแพลตฟอร์มต่างๆเพิ่มเติมหลายช่องทาง มีการรีรันไปในแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือแม้แต่การเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ดำเนินการโดยเจ้าของช่องโทรทัศน์เองก็ทำให้ผู้ผลิตเป็นโอกาสที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้ (Live)

2. สื่อทีวี เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Awareness) ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับแบรนด์อย่างมากและมีผู้เข้าถึงจำนวนมากแม้ในบางพื้นที่ที่หลายๆสื่อไม่สามารถเข้าถึงได้

3. สื่อทีวียังคงเป็นที่นิยมในการเวลาในการผ่อนคลาย จากเนื้อหาละครที่มีให้เลือกได้หลายช่องสามารถเลือกเนื้อหาสนใจที่จะรับชมได้ และเนื้อหามีลักษณะที่สามารถดูได้อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าสัดส่วนของสื่อทีวีจะมีสัดส่วนที่สูงที่สุด แต่ผู้ผลิตต่างก็เริ่มให้ความสนใจไปยังสื่อด้านอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการทำการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในปริมาณมากได้เช่นกัน อีกทั้งการใช้จ่ายน้อยกว่า สามารถกำหนดงบประมาณได้ และมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยทำให้การใช้สื่อผ่านอินเตอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ผลิตรายย่อยสามารถดำเนินการเองได้ อีกทั้งหลายๆแพลตฟอร์มยังมีการพัฒนาการเก็บข้อมูล ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อในเชิงการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย

การใช้จ่ายด้านสื่อ ในปี 2566

ข้อมูลประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้จ่ายด้านสื่อมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว, สินค้านม Dairy Product, ร้านค้าปลีก, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม, ยายนต์ เรียงตามลำดับ

โดยหากเปรียบเทียบจากปีที่ผ่านมา** ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านสื่อเพิ่มขึ้นถึง 14%, นม Dairy Product มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 17%, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมเพิ่มขึ้น 16% ในส่วนของร้านค้าปลีกมีสัดส่วนลดลง 17% และ ยายนต์มีสัดส่วนการใช้จ่ายลดลง 10%

อีกอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจคือผลิตภัณฑ์อาหารและร้านอาหารที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 52% แสดงได้ถึงความร้อนแรงของการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร และร้านอาหารที่น่าจับตามองว่าปีต่อไปจะเป็นไปในทิศทางใด รวมทั้งการปรับตัวของสื่อแต่ละประเภทว่าจะงัดกลยุทธ์อย่างไรออกมาทำให้การสื่อสารสนุกสนานมากขึ้น อย่างเช่นในต่างประเทศ

มีการโฆษณาประเภท 3D ขึ้นมา โดยการสร้างภาพจำลองของผลิตภัณฑ์สินค้าและเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นถึงการทำรูปแบบสื่อแนวใหม่ ซึ่งสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

 

* ข้อมูลการใช้จ่ายด้านสื่อ โดยเป็นข้อมูลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2566

** สัดส่วนการใช้จ่ายด้านสื่อ โดยเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2565 กับ ปีพ.ศ. 2566

Source: ภาพโฆษณาหนังบาร์บี้ยักษ์ (@alexgarcia_atx) และ ลิปสติกยักษ์ ปาดทั่วปารีส (@lorealparis)

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,952 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566