ภิกษุสกุลโพธิ 4 : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ

16 ธ.ค. 2566 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2566 | 11:10 น.

ภิกษุสกุลโพธิ 4 : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากตอน 3)

11. ชายสามโบสถ์
 
ท่านญาณวชิรโพธิได้ตั้งปุจฉาต่อพระครูนิโครธบุญญากร พระกรรมวาจาจารย์ ทำนองว่าบวชหลายครั้งไม่ดีใช่หรือไม่เหมือนคำโบราณว่าชายสามโบสถ์ไม่ควรคบหา
 
ท่านพระครูเฉลยว่า เมื่อครั้งพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่งบวชถึง 7 ครั้ง และบรรลุอรหันตผลได้ในครั้งที่ 8 เหตุนั้นเกิดแต่จอบอันเดียว กล่าวคือท่านผู้นี้เคยใช้จอบประกอบสัมมาชีพปลูกโภชนธัญญาหารเลี้ยงตัว เมื่อมาบวชแล้วเกรงภัยอันเกิดแต่ความหิวจึงได้ลาสิกขาไปเพาะปลูกธัญญาหารเก็บไว้เปนเสบียงยามบวชใหม่ กระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ 7 รอบ ภายหลังเกิดจอบนั้นหายไป จึงหมดอุปกรณ์ทำกิน เมื่อละวางได้แล้วจึงบรรลุอรหันตธรรมอันเกษม
 
อนึ่งในความเห็นของเรานั้นชายสามโบสถ์คือ ผู้มีความลังเล ไม่มั่นใจว่าจะดำรงเพศสภาวะอะไรดี ภิกษุหรือฆราวาส ตัดสินใจกลับไปกลับมา จึงไม่น่าคบหาสมาคม หากแต่มองให้ลึกลงไปแล้วอาจเปนคำกล่าวแต่เพียงผิวเผินให้ตั้งสันนิษฐานแก่ผู้บวชหลายครั้งเอาไว้ก่อน ส่วนความจริงเบื้องลึกของภูมิหลัง เหตุ/ปัจจัยควรได้พิจารณาให้ถ่องแท้ละเอียดลงไปอีกก่อนตัดสิน


 

12. อุบายการฝึกภาวนาระหว่างการเดินทาง
 
พระกรรมวาจาจารย์ได้ปรารภว่าถนนหนทางในอินเดียนี้มีสองประเภทคือ ที่ลาดยาง กับ ที่เคยลาดยาง แลเตือนว่าจะมีหลุมลึก การเคลื่อนที่ของรถทำได้ช้าเพราะพื้นผิวการจราจรไม่เพียงพอรับปริมาณการสัญจร กอรปกับความสบายใจในการจะขับไปตรงไหนก็ได้ที่มีที่ว่างโดยมิพักต้องใส่ใจกับระเบียบวินัยการจราจร
 
เส้นทางเดินทางบางช่วงเปนถนนเคยลาดยางเปนหลุมลึกรถวิ่งขโยกขเยก รู้สึกว่าตัวเราโดนจับเขย่าด้วยมือยักษ์ฉะนั้น ท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด ก่อนออกเดินทางได้ไปลาบวชโยมลูกพี่ ได้เจอหลานสาวตัวเล็กที่ชื่นชอบการนั่งช้างมาก คนเปนพ่อต้องจ่ายเงินค่าเช่าช้างไปหลายอัฐหลายเพลา เพื่อให้ลูกสาวได้สนุกสนานบันเทิงใจ จึงระลึกได้ว่าหากเราสวมหัวใจเด็กๆผู้ไร้เดียงสามาอยู่บนรถที่โขยกเขยกเวลานี้ หลานสาวคงมีความสนุกสนานบันเทิงใจกับการขโยกเขยกอย่างนั่งช้างแถมมีแอร์เย็นสบายไม่ร้อนด้วย คิดได้ดังนั้นจึงหมดความอนาทรร้อนใจนั่งโขยกเขยกไปโดยไม่ร้อนทุกข์ร้อนใจเลย
 
เส้นทางเดินทางบางช่วงเปนถนนลาดยางแล้ว แต่ติดขัดมากเช่นช่วงขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำคงคาความยาวกว่า 7 กม. แม้นั่งอยู่ในรถก็รู้สึกร้อนรนใจ เมื่อระลึกรู้ดังนั้นจึงถามตนเองว่า เราปวดหนักปวดเบาหรือ...ก็เปล่า เราร้อนหรือ...ก็เปล่า เรายืนเมื่อยหรือ...ก็เปล่า เราร้อนรนใจอะไรยังหาคำตอบไม่ได้ ระลึกได้อยู่ว่าคาดการณ์ไม่ได้จริงแท้เรื่องเวลาการเดินทางนี้ แปลว่ามีเวลาเหลือเฟือ ปลิโพธิ ๑๐ เราก็ได้ตัดแล้วก่อนเดินทางออกจากประเทศ เช่นนั้นแล้วนี่เองคือเวลาของเรา เวลาที่เราเปนเจ้าของ เวลาที่เราอยู่กับตัวเอง คิดได้ดังนั้นจึงเริ่มลงมือเจริญอานาปาณสติ ความร้อนรนขุ่นมัวจึงจากไป

เส้นทางบางช่วงเปนภูมิประเทศชนบท พระกรรมวาจาจารย์ได้ชี้ให้ดูนกกระเรียนตัวใหญ่คู่หนึ่ง อยู่ในทุ่งรวงทองช่างสวยงามนัก มาระลึกถึงตัวเองว่าจำเพาะในเวลาเดียวกัน นกมีอิสระอยู่ในทุ่ง เราเองไม่มีอิสระถูกจำอยู่ในล้อมของกระจกรถ คล้ายกันกับกิเลสทางโลกที่รัดตรึง เช่นนี้เเล้วเราจึงจำเปนที่จะต้องศึกษาหาทนทางถากถางตัดทอนเครื่องรัดเรานั้นให้บางลงไปจนขาดวิ่นให้ได้

13. ศักดิ์สิทธิ์ คือ อะไร
 
พระเดชพระคุณพระอุปัชฌาจารย์ ได้แสดงธรรมข้อหนึ่งเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ในประเด็นที่ว่าความศักดิ์สิทธิ์คืออะไร ทำไมผู้คนถึงว่าสถานที่สังเวชนียสถานเปนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
 
ท่านว่า ศักดิ์สิทธิ์ นั้นก็คือ SUCCESS
 
 
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือสถานที่ที่พระพุทธองค์ SUCCESS ความSUCCESS นี้เองคือความศักดิ์สิทธิ์
 
เปนข้อธรรมที่สั้น_กระชับ_คม_บาด 
 
ทำให้เข้าใจได้เองว่าอย่างพระเดชพระคุณหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อแช่มของเรานั้นท่านศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ด้วยข้อธรรมะที่พระอุปัชฌาย์ได้ไขให้นั้น ตอบได้ว่าท่านศักดิ์สิทธิ์เพราะท่านสำเร็จ สำเร็จอภิญญา สำเร็จในข้อธรรมะ สำเร็จในข้อปฏิบัติ ทั้งเครื่องประกาศเกียรติคุณความsuccess ของหลวงพ่อแช่มที่จับต้องได้นั้นคือพัดยศพุดตานขาว อันเปนพัดยศที่พระราชทานพิเศษ แก่พระวิปัสสนาจารย์ แตกต่างจากผู้อื่น และใช้ (วิ.) ต่อท้ายราชทินนาม
 
ขอกราบบูชาคุณท่านผู้สำเร็จด้วยความนอบน้อมมา ณ โอกาสนี้ เทอญ

14. เพราะให้จึงได้รับ
 
ข้อลังเลสงสัยสำคัญอีกข้อหนึ่งคือในเรื่องทางธรรมนั้น ท่านผู้รู้ครูอาจารย์ทั้งหลายได้เทศนาไว้ทำนองว่า “ทำเองได้เอง ไม่ทำไม่ได้” เหมือนเช่นที่กล่าวกันว่า “ความดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”ฉะนั้นแล้วที่เราดั้นด้นฝ่าความทุรกันดารมาถึงพุทธภูมินี่ ญาติโยมบุพการีจะได้กุศลนี้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่ได้มาด้วย ไม่ได้ทำเอง ทั้งโยมบิดาก็ดูจะมีความคิดยึดมั่นเช่นนี้ตามตรรกะที่ท่านยึดถือเสมอมา แลดูแล้วท่านจะได้สำเร็จกุศลดังกล่าวแทบเปนไปไม่ได้เลย
 
ราวกับพระเดชพระคุณพระอุปัชฌาจารย์ จะได้หยั่งรู้ถึงห้วงสภาวะจิตของวีรภทฺรโพธิภิกขุในขณะนั้นที่มีความสงสัยลังเลในข้อธรรมดังกล่าว ท่านเทศนาอรรถาธิบายเปนส่วนรวมขณะอยู่ในพระอุโบสถว่า
 
‘บุพการีของเรานั้นเปนผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง ที่ได้ให้กำเนิดเรามาเปนคนฉะนี้ ได้ดูแลทะนุถนอม บำรุงเราจนเติบใหญ่ กายสังขารของเราที่เปนคนนี้ ก็ได้มาแต่กายสังขารของท่าน ในเมื่อท่านเปนผู้ให้เรามา เราพากายสังขารอันท่านให้มาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ผลแห่งการปฏิบัตินั้นท่านทั้งสองย่อมมีส่วนได้โดยธรรมดา’
 
เท่านี้เองวิจิกิจฉาในข้อนี้ได้ทำลายตัวของมันเองลงเสียสิ้นเชิง เกิดความกระจ่างใสชัดเจนแน่วแน่ขึ้นในดวงจิต 
ได้พยายามคิดว่าจะรวบรวมเรียบเรียงอย่างไรจึงจะสื่อความไปถึงโยมบิดามารดาได้ จึงได้ทบทวนการกระทำที่เปนกุศลของเราและร่างข้อความส่งไลน์ไปให้ท่านดังนี้
 
“ตบะเดชะอาตมาที่ได้บำเพ็ญตลอดหลายวันที่ผ่านมาคือ
 
1. การประพฤติธรรม
 
2. อดใจไม่กระทำบาป ทั้งกาย วาจาใจ
 
3. ละความทระนงตน
 
4. ถือสันโดษ
 
5. รู้บุญคุณ
 
6. ฟังธรรมในเวลาอันควร
 
7. อดทนให้เปนคนว่าง่าย
 
8. สนทนาธรรม
 
9. ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่ขุ่นมัว
 
10. สอดส่องระวังจิตมิให้ซัดส่าย
 
ด้วยเหตุแห่งการที่โยมทั้งสองเปนผู้ให้กายนี้แก่อาตมา และ อาตมาได้นำกายสังขารอันโยมทั้งสองเปนผู้ให้ เปนเจ้าของนี้ ดั้นด้นมาถึงแดนพุทธภูมิแลปฏิบัติบำเพ็ญตามข้อ ทั้ง 10 แล้วนั้น ด้วยสัจจะเดชะดังกล่าว กุศลกรรมนั้นย่อมสำเร็จแก่โยมทั้งสองโดยชอบ....ขอให้โยมทั้งสองได้อนุโมทนาในกุศลทั้งนั้นของโยมเทอญ...
 
ขอให้วิบาก แลทุกขเวทนาทั้งหลายที่อาตมาได้เสวยอยู่ตลอดทางที่จาริกมาในเพศบรรพชิตนี้ ได้เปนเครื่องหักล้างส่วนอกุศลทั้งหลายที่ติดตัวติดตามคุณโยมทั้งสองตั้งแต่อดีตชาติใดๆมา ให้หมดสิ้นไปเทอญ..”
 
ได้ทราบเมื่อกลับเมืองไทยแล้วว่า ข้อความนี้จับใจท่านทั้งสองมาก ท่านได้copy ส่งไปแจ้งเพื่อนๆของท่านที่สอบถามถึงเรา เพื่อนๆของท่านต่างอนุโมทนา บางท่านว่าอ่านเปนสิบเที่ยวด้วยความซาบซึ้งใจ


15. รัตตัญญู
 
ในบรรดาเหล่านวกะโพธิ สปร. รุ่นที่ 8 นี้ ผู้อาวุโสที่สุดต้องยกให้หลวงพ่อชายเนตร ผู้มีชนมายุสูงถึง ๗๘ ปี หลวงพ่อใส่เครื่องช่วยฟังทั้งสองหู ร่างกายกระฉับกระเฉงแข็งแรง ท่านกล่าวคำขอบวชได้ชัดเจนคล่องแคล่ว เดินทางสบายไม่เปนภาระใคร พกกล้องถ่ายรูปด้วย ท่านนั่งพับเพียบนั่งคุกเข่าได้อย่างคล่องไม่ติดขัด เล่นเอานวกะโพธิรุ่นเล็กอายม้วนเพราะปวดขาเมื่อยเข่าขยุกขยิกอยู่ตลอดเวลาสู้ท่านไม่ได้
 
หลวงพ่อเล่าว่าท่านเปนสื่อมวลชนเก่า ออกกำลังเปนประจำ ออกรอบครั้งละ 8-9 หลุมที่ภูเก็ต และยกน้ำหนักออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าอกเสมอๆ ท่านว่าวันไหนไปภูเก็ตมาเอารถส่วนตัวท่านไปใช้ได้เลย อัตตาแห่งตนท่านยกออกหมด เมื่อเวลาลาสิกขาแล้วเรายังไม่ได้ลาคงสภาพเปนภิกษุอยู่ ขณะกำลังแยกย้ายขึ้นเครื่องกลับ ท่านมายกมือไหว้เราเฉย เราตั้งตัวไม่ติดยกมือรับไหว้ท่าน ท่านกลับว่า “ไม่ต้องยกไหว้ผม ผมไหว้ศีลของท่านต่างหาก”
  
รัตตัญญู อาจแปลว่าผู้รู้เวลาราตรีกาล กล่าวคือ ใช้ชีวิตผ่านวัน_เวลามามาก หลวงพ่อชายเนตรก็เปนเช่นนั้น คืนหนึ่งรถโดยสารของนวกะโพธิ ติดอยู่ที่ด่านพรมแดนเนปาลรอการตรวจลงตราเข้าเมือง คนรถติดเครื่องรถไว้แล้วออกจากรถไป พระและโยมที่อยู่ข้างในจะออกไปใช้สุขาแต่ออกจากรถไม่ได้เพราะหาคันบังคับเปิดประตูไม่พบ เหมือนถูกขังไว้ในห้องเย็น บางท่านหาทางออกโดยการเคาะกระจก ทุบประตู ป้องมือส่องออกมองไปนอกรถ ระหว่างความวุ่นวายตกประหวั่นพรั่นพรึงนั้น หลวงพ่อชายเนตรลุกขึ้นมาจากที่นั่งด้วยท่าทีสุขุม แล้วท่านก็กดไฟฉายในมือส่องออกไปนอกรถทำสัญญาณกระพริบใช้ไฟกวักเรียกคนรถกลับมาจนเปิดประตูสำเร็จ ช่างเปนเทคนิควิธีการของผู้รัตตัญญูอย่างแท้จริง

16. การฟั่นเกลียวเชือก
 
เชือกที่เราใช้งานอยู่ทุกวันนั้นเกิดมาจากการฟั่นรวมกันของเส้นด้าย เมื่อฟั่นเกลียวแน่นหนาดีแล้วจึงกลายสภาพจากด้ายที่อ่อนแอเป็นเชือกที่แข็งแรง วันใดเชือกฟั่นนั้นคลายเกลียวก็ไม่สามารถนำไปใช้กับภาระกิจผูกมัดรัดตรึงของเชือกได้
 
หลวงปู่ดู่ วัดสะแก ท่านเคยวิสัชนาถึงคำถามโยมที่ว่า เจอพระทีไรทำไมต้องให้มะยังภันเตขอศีลเสียก่อนว่า คราวก่อนโยมสมาทานไปนานแค่ไหนแล้วอาจจะย่อหย่อนไปคล้ายเชือกคลายเกลียว เจอพระจึงต้องสมาทานเสียใหม่ฟั่นเสียให้แน่นหนาเพื่อประโยชน์ในการใช้งานเชือกได้สมบูรณ์
 
มาอุปสมบทครั้งนี้ท่านอุปัชฌาย์ ท่านกรรมวาจาฯ ได้นำให้สวดมนต์ทำวัตรปฏิบัติทั้งเช้า_เย็น เปนบทสวดซ้ำๆกัน เมื่อเปิดคำแปลบททำวัตรแล้วจึงกระจ่างแจ้งแก่ใจว่า ที่แท้เหตุที่ต้องทำซ้ำๆทุกวันนั้น ก็เปนด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่หลวงปู่ดู่ได้แสดงธรรมในหัวข้อสมาทานศีลเพื่อฟั่นเกลียวเชือกนั้นเอง
 
อนึ่งการสมาทานศีลก่อนรับพรพระนั้นมีลักษณะคล้ายทำตัวเองให้สะอาดผุดผ่อง เสมือนว่ามีพื้นที่สำหรับรับพรอันเปนของสะอาดบริสุทธิ์ได้ดี ได้มาก คล้ายจอกน้ำมีฝุ่นผงคลีตกอยู่หนาสักองคุลี ย่อมได้รับน้ำน้อยกว่าจอกน้ำที่สะอาดไม่มีฝุ่นผงคลี