พรบ.อ้อยและน้ำตาล จะมีไว้เพื่ออะไร

01 พ.ย. 2566 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 13:44 น.
1.1 k

พรบ.อ้อยและน้ำตาล จะมีไว้เพื่ออะไร บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3936

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 31 ตุลาคม 2566 ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้สินค้านํ้าตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) ประกาศขยับราคานํ้าตาลทรายหน้าโรงงานขึ้นกิโลกรัมละ 4 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2566 เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายประจำฤดูการผลิตปี 2566/67
 
ถือเป็นการล้มระบบตลาดเสรีของราคานํ้าตาล ที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 หลังไทยในฐานะผู้ส่งออกนํ้าตาลอันดับ 2 ของโลกถูกบราซิล ประเทศผู้ส่งออกนํ้าตาลรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) ว่า สินค้านํ้าตาลของไทย มีการอุดหนุนการส่งออก โดยมีการจ่ายเงินเพิ่มให้กับชาวไร่ในบางปี ผ่านกลไกกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย
 
ครั้งนั้นทำให้เกิดการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาล นํ้าตาลทรายที่เคยเป็นสินค้าควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ หลุดจากการเป็นสินค้าควบคุมราคาทันที ยังมีผลต่อการยกเลิกโควต้าจำหน่ายนํ้าตาลในประเทศ กองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย ไม่มีบทบาทในการแทรกแซงราคาอ้อย และการกำหนดราคาหน้าโรงงานจะเป็นไปตามทิศทางของราคานํ้าตาลในตลาดโลก

การดึงสินค้านํ้าตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุมครั้งนี้ ยังเป็นการควบคุมเบ็ดเสร็จ เพราะเป็นการควบคุมทั้งราคาหน้าโรงงานและราคาขายปลีก โดยราคานํ้าตาลทรายขาวหน้าโรงงานกิโลกกรัมละ 19 บาท นํ้าตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 20 บาท ขณะที่ราคาขายปลีก ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล นํ้าตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 24 บาท และนํ้าตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะกำหนดราคาตามระยะทางและต้นทุนการขนส่งต่อไป 
 
เช่นนั้นแล้ว พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและนํ้าตาลทราย พ.ศ.2527 ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริการจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลทรายให้เติบโต มีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมกับชาวไร่อ้อย เจ้าของโรงงานนํ้าตาลทราย และประชาชนผู้บริโภค จะมีไว้ทำไม ในเมื่อครม.มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องราคาขาย ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อย 
 
ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น เพราะต่างพรรคหรือไม่ ในเมื่อกระทรวงพาณิชย์อยู่ภายใต้การดูแลของพรรคเพื่อไทย ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ภายใต้การดูแลของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 

กรรมจึงตกที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 2 ล้านคน ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าทั้ง ค่ายา ค่าแรงงาน และ ราคานํ้ามัน แถมต้องมาผจญกับภัยแล้งอีก ที่ทำให้ผลผลิตลดลงมากจากที่เคยมีอ้อย 120 ล้านตันคาดว่า จะเหลือเพียง 75 ล้านตันในปีนี้ 
 
ชาวไร่อ้อยต้องมาสูญเสียโอกาสจากราคานํ้าตาลในตลาดโลกล่าสุด ที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 725 ดอลลาร์ต่อตัน ของราคานํ้าตาลทรายขาวส่งมอบเดือนธันวาคม หรือ จะตกที่กิโลกรัมละประมาณ 27 บาทหรือไม่ ถ้าครม.มีมติให้กลับมาใช้ราคาขายเดิม