SABUY ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย

25 ต.ค. 2566 | 03:49 น.
1.5 k

SABUY ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย…เจ๊เมาธ์

***แฟนคลับของ SABUY หลายคนเริ่มออกอาการไม่ค่อย “สบาย” หลังจากที่ราคาหุ้นปรับร่วงลงมาต่อเนื่อง จนลงไปต่ำกว่าราคา 5 บาท/หุ้น ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี และยังเป็นราคาหุ้นที่ทิ้งตัวลงมาจากจุดสูงสุดที่เคยทำได้ในช่วงปี 2565 ถึงเกือบ 5 เท่าตัว (ราคา 30 บาท/หุ้น) อีกด้วยเช่นกัน

ปัญหาสำคัญที่เจ๊เมาธ์เคยพูดถึง...โลกโซเชียลทั่วไปต่างก็พากันพูดถึง แต่นักวิเคราะห์ไม่พูด ก็คือ เรื่องของดีล “จำนวนมหาศาล” ซึ่งครั้งหนึ่ง SABUY เคยใช้เป็นธีมหลักในการผลักดันให้บริษัทก้าวขึ้นมาเป็นจุดสนใจของนักลงทุน ในจังหวะเดียวกับที่มีการดันราคาหุ้นก็คือ การจัดให้มีการแถลงข่าวเรื่องการลงนามใน “บันทึกความเข้าใจ” (MOU : Memorandum of understanding) ในแทบจะทุกสัปดาห์และในบางสัปดาห์ก็มีแถลงข่าวแบบนี้หลายครั้งเลยด้วยซ้ำไป 

โดยการลงนามใน MOU ที่ว่านี้ก็มีทั้งการศึกษาธุรกิจร่วมกัน การสนใจร่วมทุน การลงทุนรวมกัน หรือ แม้แต่การเข้าซื้อกิจการ ซึ่งมีมากและบ่อยจนทำเจ๊เมาธ์ถึงกับ “มึน” เพราะจำไม่ได้รวมไปถึงเจ๊เมาธ์ก็เชื่อว่า แม้แต่ผู้บริหารของ SABUY บางคนเองก็น่าจะจำไม่ได้เช่นเดียวกัน จนเมื่อเวลาผ่านไป ดีลจำนวนมากที่เคยลงนามไว้ก็มีทั้งที่สามารถทำได้จริงและทำไม่ได้ 
 

รวมถึงดีลที่สามารถทำได้ก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับ SABUY ได้จริงไปทุกดีล ดังนั้นจึงทำให้เหลือเพียงดีลในธุรกิจเพียงไม่กี่อย่างที่ยังเหลืออยู่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากจะมองอย่างเป็นธรรมก็จะเห็นว่า ทั้งรายได้ และกำไรของ SABUY ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาเรื่อยแม้ว่างบในบางไตรมาสจะไปจับเอาตัวเลขที่อาจไม่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจนกำไรสวยขึ้นผิดหูผิดตา แต่ในเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่บอกว่าไม่มีปัญหา...ก็คงจะไม่มีอะไรมั๊ง 

เอาเป็นว่าถึงตอนนี้เจ๊เมาธ์ก็ได้แต่หวังว่าท้ายที่สุดแล้วหุ้นอย่าง SABUY จะไม่เกิดปัญหา “ฟองสบู่แตก” ในแบบที่เคยเกิดขึ้นกับ STARK มาก่อนหน้านี้ 

เพราะแม้ฉากหน้าจะดูดีแต่ก็มีอะไรที่ซ่อนอยู่เยอะ และหากมีปัญหาในแบบที่ว่านี้เกิดขึ้นมาอีก ถึงตอนนั้นตลาดหุ้นไทยก็คงจะเชื่อถืออะไรไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งคราวนี้ถ้าหากวงแตก ตัวใครตัวมันก็แล้วหละเจ้าค่ะ

*** หลังแจ้งผลการดำเนินงานของหุ้นธนาคารใหญ่ประจำไตรมาส 3/66 พบว่า BBL มีกำไรมากที่สุดที่ 11,350 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 48% รองลงมาคือ KBANK ซึ่งมีกำไร 11,282 ล้านบาท ปรับขึ้น 6.7% ขณะที่ KTB มีกำไร 10,282 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 21.7% ส่วนทาง SCB มีกำไรอยู่ที่ 9,663 ล้านบาท ปรับลดลง 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้หลักที่สร้างผลกำไรให้กับหุ้นในกลุ่มธนาคารใหญ่เหล่านี้ ยังคงมาจากรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นหลัก ตามที่เจ๊เมาธ์เคยบอกมาตลอด 

ส่วนที่จะมีแตกต่างกันอยู่บ้างก็จะเป็นเรื่องของการตั้งสำรอง ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายของแต่ละธนาคารที่แตกต่างกันไป 

อย่างไรก็ตาม เจ๊เมาธ์ยังคงยืนยันว่า หุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่ยังคงเป็นหุ้น “หลุมหลบภัย” ที่ยังคงใช้ได้ในวันที่สงครามยังคงเกิดขึ้นอยู่รอบตัว และถึงแม้ว่าราคาหุ้นอาจจะไม่แรงจนโดดเด่น แต่ก็ยังเชื่อได้ว่าจะไม่ทำให้พอร์ตหุ้นของนักลงทุน “พัง” เหมือนหุ้นในกลุ่มอื่นอย่างแน่นอน

*** แม้ว่าราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง GULF GPSC RATCH และ BGRIM จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ก็เป็นการปรับตัวขึ้นมาจากจุดที่ราคาหุ้นต่ำที่สุดในรอบปีแทบทุกตัว ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า การปรับราคาขึ้นมาในรอบนี้เป็นเพียงเรื่องของการ “รีบาวด์ทางเทคนิค” นั่นเอง 

ปัญหาหลักของหุ้นโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ยังคงเป็นปัญหาในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวขึ้นมานับตั้งแต่สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อจนต่อเนื่องมาถึงสงคราม อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งผลักดันให้ราคาสินค้าพลังงานที่ราคาสูงอยู่แล้ว ยังคงสูงต่อไป เนื่องจากต้นทุนหลักในการผลิตของโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ยังคงอิงอยู่กับพลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก 

โดยนักวิเคราะห์จากบางสำนักระบุเอาไว้ว่า ราคาพลังงานน่าจะลากยาวไปจนถึงปี 2567 เป็นอย่างน้อย ซึ่งในจังหวะนี้ถ้าใครรีบ...หรือคันมาก อยากจะลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ว่ามา เจ๊เมาธ์ก็มองว่า GULF ดูเหมือนว่าจะน่าสนใจ เนื่องจากพื้นฐานทางธุรกิจและราคาหุ้นจะแข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบในกลุ่มเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่ร้อนหรือไม่คันจนเกินไป เจ๊เมาธ์แนะนำว่าให้นั่งทับมือเอาไว้ก่อนน่าจะดีที่สุด

*** จังหวะนี้หุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกทั้ง DELTA HANA และ KCE เป็นกลุ่มหุ้นที่อาจจะต้องพักตัวไปอีกสักระยะ เพราะประเด็นที่เคยถูกจับมาเล่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลการดำเนินงาน หรือกำไรที่มาจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงล้วนแล้วแต่ไม่มีกำลังพอที่จะสวนกระแสตลาดขาลงในรอบนี้ได้ 

โดยเฉพาะตัวพี่ใหญ่อย่าง DELTA ถือว่าในจังหวะนี้อาจจะต้องพักตัวยาวไปจนถึงการประกาศผลการดำเนินงาน 3/66 เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่า ถึงแม้กำไรอาจจะออกมาดีแต่การที่ค่าหุ้นปรับขึ้นมามากนั้น สูงกว่าพื้นฐานขณะที่ค่าเงินบาทเองก็เริ่มที่จะปรับตัวแข็งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ของแบบนี้มันก็ไม่แน่ เพราะในจังหวะที่ไม่มีหุ้นเด่นในตลาดแบบนี้ดูเหมือนว่า DELTA จะเป็นหุ้นที่มักจะถูกเรียกใช้บริการในการดันดัชนีหุ้นไทยขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องลงทุนสูงมากนัก ดังนั้นหุ้นตัวแรงอย่าง DELTA จึงประมาทและมองข้ามไม่ได้อีกตัว