ของแพงทั้งแผ่นดิน รัฐบาลอย่านิ่งเฉย

02 ก.ค. 2565 | 08:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3797 ระหว่างวันที่ 3-6 ก.ค.2565 โดย ...กาแฟขม

 

*** เขย่าข่าวเขย่าขวดสัปดาห์นี้ หลังเปิดประเทศที่ปิดมานานจากสถานการณ์โควิด ปรากฎว่ายอดผู้ติดเชื้อกลับมาทะยานสูงอีกครั้ง มีการประมาณการว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่นรายงาน 1 พันคนเศษแต่ละวันนั้น ว่าที่จริงแล้วที่ไม่รายงานอาจมากกว่าเป็น 10 เท่า ที่บอกว่าสัญญาณติดมากขึ้น อย่างน้อยก็ประจักษ์ชัดเมื่อ รองนายกรัฐมนตรี 2 คนในรัฐบาลบิ้กตู่ อันประกอบด้วย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รงอนายกฯและรัฐมนตรีพาณิชย์ กับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีสาธารณสุข ติดโควิดพร้อมกันทั้ง 2 คน คนแรกมาจากการเดินสายยุโรปไปประชุมเรื่องเปิดเขตการค้าเสรีเอฟต้ากลุ่มยุโรปเหนือมา และบินมาจากประเทศสุดท้ายที่อังกฤษ ก่อนจะแจ้งว่าติดโควิด คนหลังบินมาจากปารีส ฝรั่งเศส ก็ต้อง WFH กันไปตามระเบียบ ว่าแต่ว่าเชื้อที่ติดเป็นสายพันธุ์อะไร น่ากลัวเกรงมากน้อยแค่ไหน ต้องสืบเสาะวิเคราะห์ต่อไป

 

*** ชีวิตต้องเดินต่อ ไม่เปิดประเทศก็ไม่ได้ เปิดประเทศ เปิดคนเดินทางเข้า-ออกได้ ก็ต้องระวัง โรคที่เข้ามาและสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ต้องยอมรับเราไม่อาจฝืน จะไม่เปิดประเทศไม่ได้ คนทำมาหากินย่อบแย่บหมดแล้ว ไม่เปิดไม่มีคนมา ก็ไม่มีกิน   แต่เมื่อเปิดแล้วก็ต้องระมัดระวัง ในมาตรการป้องกันตัวเอง อย่างน้อยเรื่องของการลดความเสี่ยงให้ตัวเอง กรณีสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องไปเผชิญกับผู้คนจำนวนมาก

*** แม้จะบอกว่าเป็นสิทธิที่จะใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ก็ตาม ก็ต้องดูตามสถานการณ์ ภาวะแวดล้อม จริงอยู่ที่เป็นสิทธิ แต่การป้องกันพื้นฐานง่ายๆ ทำไว้ก่อน ไม่ติดไว้ก่อนก็จะเป็นการดี อีกประการที่ต้องสนใจ ใส่ใจ ลงมือ ก็เป็นเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ป้องกันจากหนักจะกลายเป็นเบา ถ้าเข็มบูสเตอร์ ให้เป็น mRNA ไว้ก่อนก็จะดี เผื่อจะต้องเดินทางต่างประเทศ ซึ่งบางประเทศฉีดชนิดอื่นไม่ให้เข้าประเทศเอาด้วยก่อนเดินทางเช็กเงื่อนไขกันให้รอบคอบรัดกุม ประเดี๋ยวจะว่าไม่เตือนกัน

 

*** ที่ฮอตและเขย่าให้ขยาดไปทั่วชั่วโมงนี้ หนีไม่พ้นราคาน้ำมัน ที่ขึ้นเอาๆ แบบไม่เกรงใจ จนรัฐบาลปวดหัว เมาหมัด หาทางฟัดไม่ถูกอยู่ในเพลานี้   เมื่อน้ำมันแพงก็เป็นสารตั้งต้นนำไปสู่สินค้าและบริการอื่นขึ้นราคาตามมา ทั้งค่าไฟฟ้า ค่ารถโดยสารก็ฮึ่มๆ ปรับขึ้นหรือไม่ก็เลิกวิ่ง ดังปรากฏไปทั่วเลิกวิ่ง ขายคิว รถเมล์ก็ลดเที่ยววิ่งลงแบกไม่ไหว คนโดยสารก็เดือดร้อนแสนสาหัส ดูทีท่าที่รบกันโครมๆ สงครามรัสเซีย-ยูเครน อันเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ดันราคาน้ำมันในห้วงนี้จะคงอยู่ต่อไปอีกระยะ  กะเก็งกันว่าราคาน้ำมันสูงๆ แบบนี้เราต้องเผชิญกันไปยาวสมควร ก็ต้องคิดอ่านวางแผนกันดีๆ เมื่อน้ำมันดึงเงินจากกระเป๋าไปเยอะ เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตกันอย่างไร ในเมื่อทุกอย่างส่อแววขึ้นหมด ก็ต้องฝากรัฐบาลและผู้มีหน้าที่ (ฝากหลายรอบ) ช่วยดูให้สมเหตุสมผล ไม่ใช่อ้างราคาน้ำมันขึ้นราคาไปเสียทุกอย่างก็เกินไป อย่างกรณีข้าวถุง เป็นไปได้อย่างไร ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารแพง เอากันให้เหมาะสมก่อนที่จะตายกันเสียก่อน

 

*** พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูเหมือนรู้โจทย์ รู้ปัญหาดี ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอะไร ปัญหาระยะยาวอยู่ตรงไหน อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ไม่ได้เพียงแค่ฉีกปฎิทินไปวันๆ วันก่อนเรียกประชุมวงเล็กทีมเศรษฐกิจ เรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ รวมถึงความคืบหน้าการปฏิบัติการเชิงรุกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน นัยว่าต้องการเน้นฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนตามนโยบาย  “Better and Green Thailand 2030” มากันหลายคน ทั้ง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร ผู้แทนการค้าไทย, ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)***

 

***กลายเป็นตำบลกระสุนตกในการพิจารณางบประมาณรายจจ่ายประจำปี 2566 อ่วมอรทัยสำหรับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่ดูแลราคาข้าวของทั้งหลาย ตั้งของบประมาณกรมมา 900 กว่าล้านบาท กมธ.งบประมาณก็ซักถาม จี้ ไช  ที่ว่าปุ๋ยแพง เกษตรกรเดือดร้อนไปทั่ว จะแก้อย่างไร แต่ละปีต้องใช้ปุ๋ยเพื่อการเกษตรถึง 100 ล้านกระสอบ ราคาพุ่งจาก 800 บาท ไป 2,000 ต่อกระสอบ ต้องกู้เงินนอกระบบมาซื้อปุ๋ยกันแล้ว สำนักงบฯ ก็แนะการช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องประสานงานกัน ช่วยเหลือให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีในราคาที่ถูกลง ถามปุ๋ยไม่พอกมธ.ยังซักเรื่องปาล์มที่เป็นทั้งพลังงานทดแทนและบริโภค ปาล์มขวดราคาเพิ่มขึ้นไปถึงลิตรละ 70 บาท ผู้ปลูกอาจได้ประโยชน์แต่เดือดร้อนผู้บริโภค  จะมีแนวทางหรือกลไกอย่างไร เพื่อสมดุลประโยชน์ให้เกษตรกรอยู่ได้ และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน

 

*** ว่าด้วยเรื่องปุ๋ยแพง เรียบร้อยโรงเรียน  เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่นไปแล้ว เมื่อครม.อนุเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเข้ามา โดย เชื่อว่าโครงการจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยให้กับเกษตรกรในระยะยาว ต่อไปหลังจากนี้จะเป็นการเร่งออกประทานบัตร คาดว่าอย่างเร็ว 6 เดือน อย่างช้า 1 ปี ก็คงเริ่มต้นดำเนินการได้ ซึ่งเหมืองแร่แห่งนี้มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปีที่ 33.67 ล้านตัน มูลค่าการลงทุนโครงการ 3.6 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรแล้ว รอขั้นตอนจาก ครม.ที่นำไปสู่การออกใบประทานบ้ตรเพื่อดำเนินการทำเหมืองในพื้นที่ทั้งบนดินและใต้ดินต่อไป