ร่วมมือฝ่าวิกฤติน้ำมัน

17 มี.ค. 2565 | 09:00 น.

บทบรรณาธิการ

     สถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 12 และราคาน้ำมันดิบ Dubai เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 11 จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความกังวลสถานการณ์สู้รบ รวมทั้งความยืดเยื้อและการแทรกแซงหรือไม่แทรกแซงจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบราคาน้ำมัน รวมไปถึงการแซงค์ชั่นทางการค้าและการเงินจากชาติตะวันตกต่อรัสเซีย

     นักวิเคราะห์คาดการณ์ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบ กรณีหากสหรัฐฯ อนุมัติคำร้องของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา ในการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลา การผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาจะเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 3 เดือน จากปริมาณการผลิตในเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

     หลายประเทศพยายามแก้ปัญหาความตึงตัวของราคาน้ำมัน เช่น ญี่ปุ่น ประกาศให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศสามารถลดปริมาณขั้นต่ำ ในการเก็บน้ำมันสำรองของภาคเอกชนจาก 70 วัน เหลือ 66 วัน เพื่อให้โรงกลั่นสามารถระบายน้ำมันออกสู่ตลาดได้ 7.5 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ญี่ปุ่นปฏิบัติตามนโยบายของ International Energy Agency (IEA) ที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันระบายน้ำมันจากคลังสำรองปริมาณรวม 60 ล้านบาร์เรลเพื่อเพิ่มอุปทานน้ำมันโลก

     ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรไปจนกว่าไม่สามารถรับไหว โดยล่าสุดได้เห็นชอบยกเลิกกรอบการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ให้นานที่สุด โดยรัฐบาลใช้เงินเข้าไปอุ้มราคาน้ำมันดีเซลขณะนี้อยู่ที่ 7 บาทต่อลิตร พร้อมกับเห็นชอบปรับกลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันฯ (Exit Strategy) โดยให้ยกเลิกการปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง เมื่อฐานะกองทุนน้ำมันใกล้ติดลบตาม พ.ร.ฎ. ขยายกรอบวงเงินฯกู้ เป็น 30,000 ล้านบาท ทั้งหมดเพื่อบริหารสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน

 

     เราเห็นว่ามาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่ 30 บาทต่อลิตร อาจไม่ใช่ทางออกประการเดียวในการแก้ปัญหาบริหารราคาน้ำมันและพลังงานในประเทศ ที่มองไม่เห็นอนาคต และยังสร้างภาระในระยะยาว รัฐบาลควรมีมาตรการผสมผสานหลายแนวทางในการดูแลและใช้พลังงานให้เหมาะสม เร่งรัดแผนระยะกลาง-ยาวให้เร็วขึ้น อาทิ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น การรณรงค์ประหยัดพลังงานหรือมาตรการบังคับลดใช้พลังงาน หรือมาตรการจูงใจประหยัดพลังงาน ฯลฯ ที่สำคัญความร่วมมือจากประชาชนในแต่ละมาตรการ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะร่วมกันนำประเทศก้าวผ่านวิกฤติไปได้