ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 4

31 ม.ค. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2565 | 14:23 น.
584

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในการสำรวจตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของรสนิยมของสินค้าที่เราจะนำไปขาย เป็นที่ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำการสำรวจอย่างถ้วนถี่ บางครั้งสินค้าบางชนิด รสนิยมอาจจะสำคัญกว่าราคาด้วยซ้ำไป ดังนั้นทุกๆปัจจัยจะมีความจำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยไม่สามารถมองข้ามได้ การค้าระหว่างประเทศมีความละเอียดอ่อนมาก หากทำได้ไม่ดี ทุกอย่างอาจจะล้มเหลวลงได้เลยครับ
 

ศักดิ์เองอาจจะมีปัญหา เรื่องการมองข้ามปัจจัยดังกล่าวไป จึงทำให้เชื่อว่าหากผลิตกะปิดีๆออกมาขาย จะต้องชนะคู่แข่งที่เป็นสินค้าท้องถิ่นได้ไม่ยาก แต่ในทางกลับกัน เขาลืมไปว่า การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความชอบของผู้บริโภค ที่เขาเคยชินกับการทานกะปิที่มีกลิ่นแรง หรือสีสันที่ดำสนิทอย่างกะปิพื้นเมืองของเขา มาชั่วนาตาปีแล้ว หากจะเปลี่ยนแปลงความชอบนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ง่ายเลยครับ อีกอย่างหนึ่งที่คิดไม่ถึงคือ แม้จะเป็นภูมิภาคเดียวกัน แต่วัตถุดิบก็ยังมีความแตกต่าง

ซึ่งประเด็นนี้ ศักดิ์ไม่ได้คิดมาก่อนเลย เมื่อเจอกับปัญหานี้ แรกๆก็คิดว่า น่าจะให้เรือประมงที่จับกุ้งหรือเคยมาให้ แก้ไขก็ไม่น่าจะยาก แต่ด้วยความเป็นจริงแล้ว วิธีที่เขาจับกุ้งหรือเคยของชาวประมงที่นั่น ไม่เหมือนกับที่ประเทศไทย เพราะน่านน้ำที่แตกต่างกัน การจับกุ้งหรือเคย เขาไม่ได้ใช้เรือออกไปดุนโดยใช้ตะแกรงดุนเหมือนบ้านเรา แต่เขาใช้วิธีการนั่งอยู่บนโป๊ะในทะเล ดังนั้นจึงจับได้เฉพาะกุ้งตัวใหญ่ๆ ซึ่งเปลือกของกุ้งตัวใหญ่จะแข็งกว่าเคยที่เป็นตัวอ่อนของกุ้ง ตัวกุ้งก็ไม่ใสเหมือนกับตัวเคย แถมยังมีปลาตัวเล็กๆผสมปนเปมาด้วย หากใช้วิธีการคัดเอาปลาออก ก็จะเสียทั้งเวลาและเสียทั้งเงิน

 

 

ดังนั้นการมักดองจึงไม่สามารถทำได้ดีเหมือนที่เมืองไทย อีกทั้งสีสันของกะปิจึงออกมาเป็นสีที่ดำ ไม่สามารถทำได้ดังที่คาดหวังไว้ สุดท้ายต้องใช้วิธีการไปขอร้องให้ชาวประมงจับเคยแบบที่เมืองไทย แต่ก็ไม่มีใครทำให้ เพราะเขาต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการจับ ซึ่งปัญหาเรื่องของราคาของตัวเคย ย่อมราคาถูกกว่าปลาและกุ้ง ในที่สุดการผลิตกะปิจึงต้องจบลงอย่างล้มเหลว เอวังจึงมีด้วยประการฉะนี้แล

 

เมื่อการผลิตกะปิขายได้จบลง แต่การลงทุนทั้งค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังคงอยู่ ศักดิ์จึงไม่สามารถจะถอยหลังได้ จึงต้องคิดหาทางเดินหน้าต่อไป ด้วยการทำ “กุ้งแห้ง” เพราะในยุคนั้น นักท่องเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวเมียนมา มักจะหาซื้อกุ้งแห้งตัวใหญ่ๆจากเมียนมา ติดไม้ติดมือกลับมาเมืองไทยกัน ซึ่งศักดิ์เองก็คิดว่าไหนๆ ก็เดินหน้ามาแล้ว ต้องสู้ให้ถึงที่สุด จึงลงทุนเพื่อด้วยการซื้อเครื่องอบแห้งเข้าไปทำกุ้งแห้งต่อ
 

แต่ก็ลืมคิดไปอีกว่า ราคาและคุณภาพของกุ้งสดที่เมียนมา แย่กว่าที่คิด เพราะที่เมียนมาในยุคนั้น ไฟฟ้าขาดแคลนมาก การผลิตน้ำแข็งต้องใช้ไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลัก เมื่อไม่มีน้ำแข็งพอเพียง ที่จะนำขึ้นเรือออกทะเลไปจับกุ้ง กุ้งที่ได้มาก็ไม่สด สีก็ไม่ใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวของกุ้งจะเริ่มมีจุดสีดำๆเกิดขึ้น ซึ่งตอนหลังจากเลิกกิจการแล้ว ศักดิ์ถึงได้กระจ่างว่า ทำไมกุ้งแห้งตัวใหญ่ๆของเมียนมา หัวกุ้งแห้งจึงมีสีดำนิดๆเสมอนั่นเอง

เมื่อการผลิตกุ้งแห้งโดยใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า เพื่อใช้ในการอบแห้ง ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เตาถ่านในการอบแห้งอย่างช่วยไม่ได้ แต่คุณภาพของกุ้งแห้งที่ได้ออกมา ความชื้นก็ไม่หมดเหมือนใช้เครื่องอบไฟฟ้า ห้องเย็นที่จะใช้เก็บวัตถุดิบก็ไม่มี สินค้าที่ผลิตออกมาก็ไม่มีห้องเย็นเก็บ พอส่งออกมาขายที่จังหวัดชลบุรี ราคาก็ถูกตัดทอนลงไปเยอะมาก ซึ่งเรื่องนี้ศักดิ์บอกว่า จะไปโทษคนรับซื้อก็ไม่ได้ เพราะของเรามีดีอยู่อย่างเดียว คือตัวกุ้งจะใหญ่กว่ากุ้งไทย ส่วนที่เหลือไม่มีอะไรดีกว่าเลยสักอย่างเดียว คนรับซื้อเขาช่วยซื้อให้ ก็เป็นพระคุณอย่างสูงแล้ว นี่คือความล้มเหลวครั้งที่สองในประเทศเมียนมาครับ

 

เมื่อทนต่อความขาดทุนต่อไปไม่ไหว สิ่งที่คิดได้ในตอนนั้น ก็คือ “กลับบ้านเรา รักรออยู่” ครับ ศักดิ์ไม่อาจฝืนความเจ็บปวดและคิดถึงบ้านไม่ไหว จึงจำใจเดินทางกลับมาเลียแผลใจที่บ้านก่อน หวังแต่เพียงว่าเมื่อทุกอย่างหายเจ็บปวด และพอจะหาทุนได้สักก้อนใหม่ ค่อยกลับไปล้างแค้นใหม่อีกครั้ง คิดในใจว่า “ลูกผู้ชาย สิบปีล้างแค้นก็ยังไม่สาย” ศักดิ์จึงได้เดินทางกลับบ้านเกิดทันทีเลยครับ
 

นับว่าเป็นโชควาสนาของศักดิ์ที่ได้เดินทางกลับบ้าน เพราะหลังจากที่เดินทางกลับบ้านไม่นาน ก็เกิดพายุไต้ฝุ่น “นากีส” พัดมาถล่มประเทศเมียนมา โดยเข้ามาทางฝั่งรัฐอิยะวดี หมู่บ้านที่ศักดิ์ไปตั้งโรงงานอยู่ ได้ถูกพายุพัดกระหน่ำจนไม่เหลือแม้แต่ซาก มีผู้เสียชีวิตมากมาย ทั้งหมู่บ้านมีผู้รอดตายนับคนได้เลยครับ
 

ศักดิ์เล่าว่า คงเป็นเพราะคุณพระคุ้มครอง ทำให้เขาล้มเหลวในการทำธุรกิจถึงสองอย่าง ในเวลาไล่เลี่ยกัน มิเช่นนั้น ศักดิ์คงต้องอยู่ที่นั่นต่อ และคงไม่เหลือชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอน  ดังนั้น เขาจึงคิดว่าต้องหมั่นทำบุญกุศลไว้เยอะๆ เมื่อถึงคราวต้องจากลาหรือล้มเหลว ก็คิดเสียว่านั่นคือพรหมลิขิต หรือพระผู้เป็นเจ้าประทานพรมา เป็นความคิดในแง่บวกจริงๆครับ

 

อาทิตย์หน้าผมจะมาเล่าถึงการบุกเข้าไปประเทศเมียนมาใหม่อีกครั้งของหนุ่มนักสู้อิสานคนนี้ต่อไปครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ