ฮือฮามหาเศรษฐี “Binance” กับภาวะ“คริปโต”ตลาดแตก

15 ม.ค. 2565 | 07:30 น.
6.2 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ฮือฮากันในวงการบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมาก เมื่อทาง Bloomberg ได้ทำการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของ “ฉางเผิง จ้าว-Changpeng Zhao” ที่รู้จักและเรียกขานกันในวงการเงินสกุลดิจิทัลและบล็อกเชนว่า “CZ” ผู้ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Binance กระดานซื้อขาย Crypto ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในโลก ทั้งๆที่เขาใช้เวลาในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 2017 เท่านั้น 
 

Bloomberg ประเมินว่า CZ-ฉางเผิง จ้าว เด็กหนุ่มที่เกิดในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน ก่อนจะอพยพมาอยู่ในแคนาดา ถือครองทรัพย์สินมีมูลค่ามากมายมหาศาลถึง 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.2 ล้านล้านบาท

ความร่ำรวยจากการถือครองสินทรัพย์จากการดำเนินงานทางธุรกิจของ CZ-ฉางเผิง จ้าว เทียบเท่ากับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ที่มีการกระจายเงินลงไปในแต่ละกระทรวงเลยทีเดียว 
     

นั่นเท่ากับว่า ฉางเผิง จ้าว ใช้เวลาในการสร้างความร่ำรวยจากการทำธุรกิจแค่  5 ปีเท่านั้น ถ้าเอามูลค่าทรัพย์สินเขามีกับระยะเวลามาหารกันจะพบความตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่า เพราะเขาสามารถสร้างความร่ำรวยได้มากถึงปีละ 6.4 แสนล้านบาท

ปี 2564 Binance ของ ฉางเผิง จ้าว สร้างรายได้จากการซื้อขายมากถึง  2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อันเป็นผลมาจากปริมาณการซื้อขายและค่าธรรมเนียมในการซื้อขายเหรียญดิจิทัลที่พุ่งสูงทะลุเพดาน  
     

ทรัพย์สินของ CZ-ฉางเผิง จ้าว ทะลุขึ้นมาแบบถล่มทลาย ทั้งๆ ที่ในช่วงเดือนเมษายน 2564 Forbes ประเมินว่า CZ-ฉางเผิง จ้าว มีทรัพย์สินแค่ 1.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตก 6 หมื่นล้านบาทเศษเท่านั้น
     

จากการประเมินสินทรัพย์ของ Bloomberg ทำให้ CZ ก้าวขึ้นมาเป็นเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 11 ของโลกไปโดยทันที และยังกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในวงการ Crypto อย่างเป็นทางการไปแล้ว
     

อย่างไรก็ตาม ฉางเผิง จ้าว  ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องความร่ำรวยตามการประเมินของบลูมเบิร์ก
     

ล่าสุดทาง  Binance ได้แถลงการณ์ว่า จากการประมาณมูลค่าตลาดและมูลค่าสุทธิของ Binance ของบลูมเบิร์กนั้น ต้องยอมรับว่ามีความเบี่ยงเบน เพราะสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโตยังอยู่ในช่วงเติบโต แต่มีความผันผวนสูงขึ้น ตัวเลขตอนนี้อาจจะแตกต่างในวันถัดไป” 


ปัจจุบัน Binance ได้จับมือกับรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการก่อตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีระดับโลกเป็นแห่งแรกที่นครดูไบ
     

เชื่อหรือไม่ มูลค่าสินทรัพย์ของ CZ เฉือนเอาชนะ Mukesh Ambani มหาเศรษฐีอินเดีย ที่ขึ้นชื่อว่ารวยที่สุดในเอเชียจากการทำธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียมีจำนวนสาขามากถึง 10,901 สาขา และเปิดให้บริการกว่า 6,700 เมืองทั่วประเทศ ถือครองสินทรัพย์อยู่ราว 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะบ้านหรืออาคารที่อาศัยของเขานั้นสูงอยู่ที่ 173 เมตร สูง 27 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 36,000 ตารางเมตร มีผู้ประเมินว่าราคาราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
     

บรรดามหาเศรษฐีของโลกในปัจจุบัน ที่ร่ำรวยมากกว่า “CZ-ฉางเผิง จ้าว” ผู้สร้างกระดานซื้อขายคริปโตฯ โทเคน คอยน์ มีแค่ 10 คนเท่านั้น   
     

อันดับ 1 อีลอน มัสก์-Elon Musk เจ้าพ่อเทสล่า ถือครองทรัพย์มูลค่า 2.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
     

อันดับ 2 เจฟฟ์ เบซอส-Jeff Bezos เจ้าพ่ออเมซอน ถือครองทรัพย์สิน1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
 

อันดับ 3 แบร์นาร์ ฌ็อง เอเตียน อาร์โน-Berand Arnault ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอลวีเอ็มเอช และประธานคริสเตียนดิออร์ ถือครองทรัพย์สินมูลค่า 1.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
     

อันดับ 4 วิลเลียม เฮนรี เกตส์-Bill Gates หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ถือครองทรัพย์สิน 1.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
     

อันดับ 5 ลอว์เรนซ์ แลร์รี เพจ-Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล, Alphabet Inc. และเพจแรงก์ ถือครองทรัพย์สินราว 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
 

อันดับ 6 มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก-Mark Zuckerberg ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเมตา หรือเฟสบุ้ก ถือครองทรัพย์สิน 1.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
     

อันดับ 7 เซอร์เกย์ มีไคโลวิช บริน-Sergey Brin  ชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลร่วมกับแลร์รี เพจ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายเทคโนโลยีของกูเกิล และผู้อำนวยการของกูเกิล เอ็กซ์ ถือครองทรัพย์สิน 1.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
     

อันดับ 8 วอร์เร็น เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์-Warren Buffett  นักลงทุนผู้ใจบุญชาวอเมริกัน ซีอีโอของบริษัทเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกซึ่งถือครองทรัพย์สินราว 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
     

อันดับ 9 สตีฟ บัลเมอร์- Steven Anthony Ballmer นักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของMicrosoftตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2014 เจ้าของปัจจุบันของ ลอส แองเจลิส คลิปเปอร์ส แห่งสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ (NBA) ถืครองทรัพย์สิน 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
     

อันดับ 10 ลาร์รีย์ เอลลิสัน-Larry Ellison ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชัน ถือครองทรัพย์สินราว 1.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
 

ความร่ำรวยของ CZ-ฉางเผิง จ้าว ผู้สร้างกระดานซื้อขายคริปโตจนทะลุโลกมิได้มาโดยง่าย แต่มาจากความมุ่งมันที่จะสร้างความฝันให้เป็นจริง ฉางเผง ชาว ต้องช่วยครอบครัวหาเงินด้วยการไปขายเบอร์เกอร์ที่ McDonald’s ในตอนกลางวัน กลางคืนเป็นเด็กปั๊ม
     

CZ-ฉางเผิง จ้าว เรียนสาขาเกี่ยวกับ ‘คอมพิวเตอร์วิทยาศาสตร์’ ที่ McGill University หลังจบมหาวิทยาลัย ได้ย้ายมายังญี่ปุ่นเพื่อทำงานเกี่ยวกับระบบซอฟต์แวร์ในตลาดหลักทรัพย์ที่โตเกียวก่อนเดินทางไปยังนิวยอร์ก เพื่อทำงานกับ Bloomberg Tradebook ในฐานะนักพัฒนา Software ที่เกี่ยวกับระบบการซื้อขาย ระยะเวลา 2 ปีเขาได้รับการเลื่อนขั้น  3 ครั้ง ก่อนจัดสินใจลาออกกลับเมืองจีน เพื่อก่อตั้ง Fusion System ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับระบบการซื้อขายสำหรับโบรกเกอร์ 
     

ในปี 2013 นี่เองที่ ฉางเผิง จ้าว เริ่มรู้จัก Bitcoin ในระหว่างการเล่นโป๊กเกอร์กับเพื่อนและยอมขายอพาร์ตเมนต์ของตัวเองเพื่อนำเงินมาเล่น bitcoin ก่อนจะมาร่วมกับเพื่อน 3 คน ก่อตั้ง Blockchain.info และ OKCoin ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ทั่วไป และสินทรัพย์ดิจิทัล ก่อนที่เขาจะสร้างกระดานซื้อขาย Binance ขึ้นมาในปี 2017 ที่ประเทศจีน แพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายสินทรัพย์ที่เป็นดิจิทัล แบบไม่ต้องมีสินทรัพย์ที่จับต้องได้มาแลก 
 

ปีเดียวเท่านั้น ฉางเผิง จ้าว อยู่เมืองจีนไม่ได้ ต้องย้ายเซิร์ฟเวอร์ สำนักงานไปยังญี่ปุ่น เพราะทางการจีนสั่งห้ามซื้อขายคริปโต เชื่อหรือไม่เขาให้เวลา 6 เดือนเท่านั้นทำให้ Binance เติบโตขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มในการเทรดคริปโตอันดับ 1 ของโลก 
 

ปี 2563 Binance มีผู้เข้ามาซื้อขายราว 16-17 ล้านยูสเซอร์ ปริมาณการซื้อขายราว 3.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน 
     

หันกลับมาที่เมืองไทยตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล การซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี กำลังเกิดความโกลาหล หลังจากที่กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ประกาศตูมว่า จะเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายเงินดิจิทัล หรือ Capital Gains Tax ในอัตรา 15% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายคริปโตอย่างรุนแรง  


โดยภาษีที่จะเก็บในอัตรา 15% คิดเฉพาะในส่วนที่เป็นกำไรจากการซื้อขายเงินดิจิทัล และคิดเฉพาะการซื้อขายแต่ละรายการ หรือแต่ละธุรกรรมการซื้อขาย โดยไม่สามารถนำรายการซื้อขาย หรือ ธุรกรรมการซื้อขายรายการอื่นที่ขาดทุนมาหักกลบรายการที่กำไรได้


ป่วนสิครับพี่น้อง เพราะเรื่องของภาษีเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างมาก 
     

ในประเทศไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีผู้เปิดบัญชีซื้อขายกว่า  3 ล้านราย เข้าไปแล้วมากกว่าตลาดหุ้นที่เปิดดำเนินการมา 40 ปีเสียอีก
     

ในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย บางประเทศใน EU กำหนดให้การขาย crypto currency, การใช้ crypto currency ในการซื้อสินค้าและบริการ, การจ่ายเงินเป็น crypto currency ไม่ต้องเสีย VATแต่ประเทศไทยกำลังจะให้เสีย VAT สำหรับรายได้จากกำไรซื้อขาย Capital Gains Tax สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิด Capital Gains Tax  
     

ขณะที่ ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา มีการคิด Capital Gains Tax แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุนมาคำนวณเงินได้สุทธิ ก่อนยื่นภาษีได้ 
     

ประเทศไทยเอางัยกันดีครับ เราควรเรียนรู้ในเรื่องการสร้างโอกาสให้มากกว่านี้ ก่อนจะสูญเสียอะไรไปแบบกู่ไม่กลับ