ปฏิวัติซ่อนรูป จุดจบม็อบสามนิ้ว

17 พ.ย. 2564 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2564 | 23:33 น.
2.2 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธ์ คูณมี

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เรื่องที่มีผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับ พวกรวม 8 คน

 

ในการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องรวม 10 ข้อ และการกระทำอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยศาลได้รับคำร้องเฉพาะการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ไว้วินิจฉัย

 

โดยให้โอกาสผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจง และยังได้มีหนังสือเรียกหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน อาทิ  สำนักงานอัยการสูงสุด, สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของสถานที่ที่ผู้ถูกร้องจัดเวทีชุมนุมปราศรัย

ก่อนที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก และเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมถึงองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง อันเป็นการวางบรรทัดฐานคำวินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่ามีเจตนารมณ์อย่างไรไว้โดยชัดแจ้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนทั่วไป

 

เหตุผลรายละเอียดแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีคดีนี้ตามคำร้องดังกล่าว สื่อมวลชนทุกสำนักคงรายงานรายละเอียดแก่ประชาชนได้ทราบแล้ว อันเป็นการให้เหตุผลทางกฎหมายไว้โดยแหลมคมยิ่ง ทั้งได้นำข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับพฤติกรรมและการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา ถือได้ว่าเป็นคำวินิจฉัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย  ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาและความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2475 จนถึงปัจจุบัน

     และถือเป็นคำวินิจฉัยที่ได้วางบรรทัดฐาน อันเกี่ยวกับการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญว่า การกระทำภายในกรอบสิทธิเสรีภาพแค่ไหนเพียงใด จึงจะถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างไรเป็นไปเพื่อนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติห้ามไม่อนุญาตให้บุคคลใดหรือกลุ่มคณะใดกระทำได้โดยเด็ดขาด

ปฏิวัติซ่อนรูป จุดจบม็อบสามนิ้ว

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย และความสำคัญของหลักกฎหมายสูงสุดของประเทศ อันเป็นเสาค้ำยันระบอบการปกครองของให้คงไว้ซึ่งความเป็นนิติรัฐ โดยมิยินยอมให้ผู้ใดล่วงละเมิด หรือเพื่อแอบแฝงการใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ด้วยเป้าหมายทางการเมืองโดยมิชอบ หรือโดยใช้ข้ออ้างการปฏิรูปบังหน้าแต่ซ่อนรูปการปฏิวัติสังคม ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามหลักและประเพณีการปกครองของไทย อันเป็นที่ยึดถือและยอมรับโดยทั่วไปของปวงชนชาวไทย ที่รัฐธรรมนูญให้การปกป้อง รับรองและคุ้มครองไว้

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศ ต่างให้ความเคารพและยอมรับ เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ประชาชนทุกคนล้วนมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในภาระหน้าที่ดังกล่าว

 

ภายหลังศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว กลุ่มคนที่กระทำการดังกล่าว รวมถึงองค์กรเครือข่าย และบรรดาอาจารย์ นักวิชาการ พวกหัวหงอกหัวดำที่คอยชักใยเด็กๆ ให้ออกมาเคลื่อนไหว กลับหาได้สำนึกในการกระทำผิดของตนแต่อย่างใดไม่ ทั้งที่รู้และเห็นโดยประจักษ์อยู่แล้วว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องตามที่ศาลวินิจฉัยนั้นเป็นความผิด กระทำการต่อไปตามที่มีข้อเรียกร้อง ก็ไร้ซึ่งมวลมหาประชาชนเข้าร่วมหรือให้การสนับสนุน

 

แต่พวกเขาก็ยังพยายามดึงดัน ดื้อด้าน จะเคลื่อนไหว กระทำการต่อไป แบบพวกนักปฏิวัติผู้โง่เขลา ที่พร้อมเอาหัวชนกำแพงต่อไป โดยมิได้มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม พวกเด็กที่ไร้เดียงสาก็ยังคงไร้เดียงสา ด้อยปัญญาต่อไป ซึ่งคนจำพวกนี้อาจพอเข้าใจได้ถึงความอ่อนหัด ที่ไม่เคยเข้าร่วมการต่อสู้ที่เรียกว่าเป็น "ขบวนการปฏิวัติทางสังคม" ที่ใดๆ มาก่อนพวกเขาจึงร้อนวิชา

 

จนสุดท้ายการกระทำของตน ต้องก้มหน้ารับกรรมติดคุกติดตะราง ต้องข้อหาคดีต่างๆ นับสิบคดี โดยไม่เคยคิดที่จะสรุปบทเรียนใดๆ ทั้งที่ขบวนการเคลื่อนไหวที่ดำเนินอยู่ หากเดินหน้าต่อไปก็มีแต่ความพ่ายแพ้ จบที่คุกเสียอนาคต จะใครเตือนด้วยความหวังดีเพียงใด พวกเขาก็มิรับฟัง ก็ต้องปล่อยไปตามกรรม

 

ส่วนคนที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ประเภทปากดีที่ลอยนวล คอยยุแหย่ปลุกปั่นหัวพวกเด็กๆ ให้ออกมาเคลื่อนไหว โดยที่ตนเองไม่กล้าออกหน้า เอาแต่ซุกหัวอยู่หลังเด็กๆ นี่ต่างหาก อันควรถึงแก่เวลาที่รัฐและหน่วยงานรับผิดชอบ จะได้กระชากหัวเอาตัวมารับโทษทัณฑ์เสียที อย่าปล่อยให้เด็กออกมารับกรรมแต่เพียงลำพัง การดำเนินการกับบรรดาหัวโจกที่อยู่เบื้องหลัง หรือพรรคการเมืองที่คอยเสี้ยมหลอกใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนจำพวกนี้คือตัวการสำคัญ หากถูกดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด อาจทำให้เด็กเหล่านั้นสำนึกผิดถึงการกระทำของตนได้

 

การปลุกปั่นหวังให้เกิดสงครามกลางเมือง เพื่อนำไปสู่เหตุวุ่นวายในบ้านเมืองก็ดี หรือ การประกาศไม่เคารพคำพิพากษาของศาลก็ดี กระทั่งการประกาศว่า สังคมไทยปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แบบตะแบงบิดเบือน สร้างข้อมูลเท็จ การเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยกเลิกบทคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวอื่นที่บรรดาม็อบสามนิ้ว กำลังเคลื่อนไหวและกระทำอยู่ก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเครือข่าย และการสนับสนุนการกระทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยห้ามไว้แล้วทั้งสิ้น

 

องค์กรอื่นๆ ทั้งหลายที่ต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีหน้าที่รีบกำจัดและหยุดการกระทำของขบวนการปฏิวัติที่ซ่อนรูป ม็อบที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เสีย ให้มันจบที่รุ่นเรา เพราะขบวนการการเมืองของสามนิ้วเหล่านี้ คือ เครื่องมือของการปฏิวัติสังคมแบบซ่อนรูป ที่แอบอ้างการปฏิรูปบังหน้าเท่านั้นเอง จึงไม่ควรปล่อยให้ลอยนวลอีกต่อไป