จากบ้านพักคนวัยเกษียณสู่บ้านพักผู้ติดเชื้อฯ

23 ต.ค. 2564 | 06:30 น.
1.4 k

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การตัดสินใจนำเอาบ้านพักคนวัยเกษียณ เปลี่ยนไปทำเป็น Hospitel เป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้ความคิดอย่างหนักมาก เพราะผลที่จะตามมาค่อนข้างจะยากที่จะทำใจได้ ไม่ใช่เพียงแค่อิมเมจของสถานที่เท่านั้น ปัจจัยอื่นๆ ที่ตามมายังมีอีกมาก แต่ผมก็ต้องตัดสินใจ เพราะเราต้องเห็นแก่ส่วนรวมของสังคมไทย มากกว่าความสะดวกสบายของตนเองต้องมาก่อนเสมอ 
       

ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมต้องทำตามคำแนะนำของทางโรงพยาบาลคู่สัญญาคือ โรงพยาบาลปิยะเวท ที่ให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้ทุกๆ เรื่อง สิ่งแรกเลยคือการเตรียมสถานที่ให้สอดค้องกับกฎระเบียบของทางการแพทย์กำหนด เช่น ภายในห้องพัก จะต้องมีการระบายอากาศ ที่ไม่ทำให้เกิดมลภาวะกับสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งเราต้องทำท่อระบายขึ้นสู่ท้องฟ้า 


อีกทั้งภายในห้องจากเดิมที่เราได้ลงทุนไปกับการตกแต่งต่างๆ เราต้องมีการเปลี่ยนใหม่หมด เช่น โซฟาที่เป็นโซฟาผ้า จะต้องเปลี่ยนเป็นโซฟาหนังแท้หรือหนังเทียมก็ได้ เพราะจะได้สะดวกในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อโรค หลังจากที่ผู้พักได้ย้ายออกไปเมื่อรักษาตัวหายแล้ว พื้นห้องก็ต้องเป็นพื้นกระเบื้องหรือกระเบื้องยางที่ง่ายต่อการทำความสะอาด ไม่เป็นการหมักหมมเหมือนการใช้พื้นที่เป็นพรม  ภายในอาคารที่พักการเข้าออกห้อง จะต้องเป็นประตูสองชั้น เพื่อป้องกันอากาศออกนอกอาคาร เป็นต้น

การบำบัดน้ำเสียก็เช่นกัน จะต้องมีการบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ผมต้องลงทุนขุดบ่อบำบัดเพิ่ม เพื่อให้เป็นไปตามต้องการ อีกทั้งจะต้องมีการทำบ่อพักกักกันกากด้วยตะแกงเหล็ก ก่อนปล่อยเขาสู่บ่อบำบัด อีกทั้งต้องมีการวางระบบกล้องวงจรปิดใหม่ทั้งหมดตามคำแนะนำ เพื่อการควบคุมดูแลไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีการออกนอกสถานที่กำหนด สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินในการลงทุนเพิ่มจากเดิมพอควรทีเดียว 
         

การเตรียมสถานที่นั้นไม่ยากเย็นมาก หากยอมที่จะจ่ายเงิน แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ “ใจ” ของพนักงาน บางคนกลัวที่จะต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ผมต้องพยายามใช้หลักของความเป็นจริง ค่อยๆ อธิบายให้น้องๆ ฟังว่า สถานที่อันตรายที่สุด แม้เป็นที่ที่เรารู้ว่าอันตราย เราจะต้องป้องกันตนเองให้ดีที่สุด ก็จะเป็นที่ๆ ปลอดภัยที่สุด 


ในทางกลับกัน ถ้าสถานที่นั้นเราไม่รู้ว่าเป็นอันตราย และไม่ป้องกันตนเองให้ดี ก็จะเป็นที่อันตรายที่สุด ผมจึงบอกน้องๆ ว่าไม่ต้องกลัว แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีคนที่ยังคงกลัวและลาออกไป ซึ่งก็ไม่เหนือความคาดหมายครับ เพราะว่าในช่วงที่เราทำ ASQ ที่โรงแรม The Kinn Bamgkok Hotel ก็มีเด็กๆ ที่ไม่เข้าใจลาออกไปเกือบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวครับเรื่องนี้แม้จะคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ก็อดที่จะเสียดายไม่ได้ครับ เพราะนาทีนี้การหางานใหม่ทำ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย โดยเฉพาะสาขาอาชีพด้านบริการในวันนี้ครับ

หลังจากที่เราเตรียมการทุกอย่างเสร็จ ซึ่งก็ต้องใช้เวลานานพอควร ในขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อก็เริ่มคลี่คลายลงไปพอสมควร เรื่องของจำนวนคนที่เข้าพักที่จะต้องลดลงในทิศทางเดียวกันอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทางผมเองก็เลยต้องดิ้นรนหาหนทางเดินงานให้มากขึ้นและเข้มข้นขึ้น โชคดีที่ท่านส.ส.ศิริพงษ์ รัศมี ท่านก็มีความคิดที่อยากจะช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ด้วยการทำงานเชิงรุก บุกเข้าไปตรวจเช็คร่างกายให้แก่ประชาชนตามชุมชนต่างๆ ซึ่งก็ได้ผลที่ดีมาก แม้เปอร์เซ็นต์การติดเชื้อจะไม่มาก แต่การตรวจอย่างเข้มข้นมากขึ้น จำนวนประชาชนที่เข้ามาให้ตรวจจึงได้ผลอย่างดีเยี่ยม 


โดยต่อมาเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 17 ที่ผ่านมา พอประชาชนในพื้นที่ทราบข่าวการตรวจหาเชื้อของเรา จึงไม่จำเป็นต้องไปตามชุมชนแล้ว ท่านส.ส.ศิริพงษ์ รัศมี ได้ตั้งเต็นท์ที่หน้าที่ทำการของท่าน ประชาชนที่ทราบข่าวก็เดินทางมาให้ตรวจด้วยตนเองทุกวันวันละ2-3 ร้อยคน ซึ่งได้ผลที่ดีมากๆ เลยครับ
        

การตัดสินใจครั้งนี้ ในใจผมคิดว่า เราตัดสินใจเดินมาถูกทางแล้ว เพราะหากเราดูสถิติที่ทางการประกาศออกมา ทุกวันจะมีผู้ที่ติดเชื้อเฉลี่ยประมาณ 10,000 คน และมีผู้ที่เสียชีวิตประมาณ 50 คน หรือประมาณ 0.05% แล้วมาตั้งข้อสมมุติฐานว่าสถานที่ของเรารองรับผู้ติดเชื้อได้ 100 คน ในหนึ่งเดือนเราสามารถรับได้สองรอบ คือประมาณ 200 คน นั่นหมายความว่าเราสามารถช่วยชีวิตคนไทยเราได้เดือนละ 1 คน แค่นี้ก็เป็นบุญกุศลอย่างสูงแล้วครับ ชาตินี้ทั้งชาติเราก็ไม่เสียชาติเกิดแล้วครับ