อย่าเอาง่าย ใช้เงินกู้ อุ้มน้ำมันดีเซล

05 ต.ค. 2564 | 20:25 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 03:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

***หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3720 ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2564 ...โดย...กาแฟขม 


***ไปดูยอดโควิดทั่วโลกกัน 4 ต.ค.64 เว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ผู้ติดเชื้อ อยู่ที่ 235,695,041 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก รวมอยู่ที่ 4,815,407 ราย หายป่วยสะสม 212,553,119 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 44,516,450 ราย อันดับ 2 อินเดีย 33,834,243 ราย อันดับ 3 บราซิล 21,468,121 รายอันดับ 4 สหราชอาณาจักร 7,900,680 ราย อันดับ 5 รัสเซีย 7,586,536 ราย ระบบการสาธารณสุข การแพทย์ บรรษัทยา นักวิทยาศาสตร์ ระดมกำลังกันเต็มที่ในการคิดค้นยา วัคซีนขจัดมหันตภัยร้ายนี้ แว่วข่าวดีเรื่องยาเริ่มใกล้จะเสร็จกันแล้ว


*** สถานการณ์โควิดในประเทศยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่ำหมื่นรายและยอดผู้เสียชีวิตต่ำ100 หายป่วย 12,336 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) ถึงวันจันทร์ที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา 1,618,499 ราย กำลังรักษา 109,748 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,493,077 ราย ในต่างจังหวัดบางที่ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงขณะที่ในกทม.ก็ยังไม่น้อย แต่ไม่สามารถทนปิดเมืองกันได้ต่อไป เมื่อลุยฉีดวัคซีนกันไปแล้วก็ต้องเข้าวาระเปิดเมือง

*** ร้องระงมในวาระเปิดเมือง รถราเริ่มขยับติดขัด แต่ที่บ่นมากหน่อยเห็นจะเป็นเรื่องน้ำมันแพง แสนแพงแต่รัฐบาลไม่ทำอะไร ไม่คิดช่วยเหลือประชาชน ร้อนไปถึง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงกับนั่งไม่ติด ออกมติด่วนในการประชุมคณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้มีสัดส่วน จากบี 10 , บี 7 เหลือ บี 6 อันนี้ช่วยในเรื่องการผสมน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 ที่ไปผสมให้ลดลงเพื่อช่วยกดราคาลง เพราะบี 100 ราคาปาล์มน้ำในไปไกล บี 100 เลยขยับตาม หลังลดสัดส่วนแล้วยังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลดลงจากเดิมเก็บ 1 บาทเหลือ 1 สตางค์ และไปขอลดค่าการตลาดลงอีก 40 สตางค์ จากเดิมมีค่าการตลาดอยู่ 1.80 บาท ทั้งหมดแล้วช่วยให้ลดราคาดีเซลลงไปได้ 1.39 บาทต่อลิตร ให้ราคาขายปลีกลงมาแตะๆ ปริ่มๆ 30 บาทต่อลิตรให้ได้ว่างั้น 

*** แต่ที่พีคมากกระทรวงพลังงานยุคนี้เขาจะทำเช่นนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์ของราคาน้ำมัน หากมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีมาตรการอื่นออกมาอย่างเหมาะสม หรือมีมาตรการฉุกเฉินต่อไป ล่าสุดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะสุทธิกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท การดูแลดีเซลตามแผนระยะสั้น จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 64 จะใช้เงินประมาณ 3 พันล้านบาท และเพื่อให้มั่นใจว่ากองทุนน้ำมันฯ จะดูแลราคาพลังงานได้ต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานโดยกองทุนน้ำมันฯ จะหารือขอกู้เงินจากกระทรวงการคลังมาดูแล ซึ่งตามกรอบของกองทุนน้ำมันฯ จะสามารถกู้มาดูแลเสถียรภาพได้ราว 2 หมื่นล้านบาท ท่านต้องลองกลับไปทบทวนใหม่ในวิธีการแก้ปัญหา อย่าเอาง่ายขอใช้เงินกู้ ขอกู้มาใช้ลูกเดียว และเงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ควรใช้ให้ตรงเป้าวัตถุประสงค์อย่างเต็มเม็ดหน่วย ไม่ใช่เอาไปอุ้มราคาน้ำมัน ซึ่งมีกลไกอื่นที่ทำงานได้ ลองไล่ไปดูตลอดสายทาง คิดหาหนทางแก้ไขก่อน ไม่ควรไปแบมือขอใช้เงินกู้กับเขาด้วย


***ลาออกกันเป็นว่าเล่นผู้บริหารระดับสูง ในกระทรวงคมนาคม ล่าสุด วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่าส่งหนังสือขอลาออกจากราชการต่อปลัดกระทรวงคมนาคม อ้างสาเหตุในใบลาต้องดูแลครอบครัว โดยหนังสือลาออกลงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ทั้งที่ยังเหลืออายุราชการ 4 ปี ก่อนหน้านี้ ถ้ายังจำกันได้ ปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) ก็ได้ยื่นใบลาเช่นกันหลังจากถูกเด้งเข้ากรุไปนั่งตบยุงแบบค้านสายตา สร้างความกังขาแม้จะมีผลงานดีเกินเป้า ในคราวของอธิบดีปฐม บอกว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ แพทย์ต้องการให้พักผ่อน.. พิจารณากันให้ดี ทำไมต้องลาออกซ้ำซ้อนในกระทรวงนี้ มีแรงกดดันอะไรมากมายนักหรือ ต้องไม่ลืมว่าความภูมิใจของคนเป็นข้าราชการมุ่งมั่นทำงานจนครบวาระเกษียณนู่นแหล่ะ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ เป็นเพราะต้องทำในสิ่งที่มิควรกระทำหรือไม่ หรือต้องทำในสิ่งที่มิอยากกระทำหรือไม่ ใบลาออกจึงเป็นคำตอบ


***เรื่องนี้อันตรายที่ต้องช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ รายงานผลการศึกษา: ไซเบอร์ซีเคียวริตี้สำหรับเอสเอ็มอี: การเตรียมพร้อมขององค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิกสำหรับการป้องกันภัยทางดิจิทัล (Cybersecurity for SMBs: Asia Pacific Businesses Prepare for Digital Defense) อ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นแบบ double-blinded ของผู้บริหารธุรกิจและผู้บริหารไอทีที่ดูแลเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้กว่า 3,700 คนจาก 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ชี้ว่า เอสเอ็มอีไทย เผชิญหลากหลายวิธีที่คนร้ายใช้ในการเจาะเข้าสู่ระบบขององค์กร ทั้งการโจมตีด้วยมัลแวร์ ตามด้วยฟิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งเอสเอ็มอีไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงหรือถูกโจมตีทางไซเบอร์และมีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดย 65% ของเอสเอ็มอีในไทยถูกโจมตีทางไซเบอร์ในปีที่ผ่านมา และ 76%สูญเสียข้อมูลลูกค้าหลังถูกโจมตีทางไซเบอร์ 97 %วิตกกังวลความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้..อันนี้สำคัญที่ต้องหาทางป้องกันแก้ไขช่วยเหลือ กระทรวงดีอีเอส กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายก็ต้องระดมกำลังกันเข้ามาแบ่งปันวิธีการป้องกันภัยพวกนี้ ที่นับวันจะมากขึ้นและเสี่ยงต่อสูญเสีย เสียหายตามเศรษฐกิจที่มุ่งไปทางนี้มากขึ้น