สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวพันกับ “อนาคต-ชะตากรรม-ปากท้องของประชาชน” อยู่ 2 เรื่องใหญ่ ที่คนไทยควรให้ความสนใจและหาทางรับมือ ทั้ง 2 เรื่องเกี่ยวพันกันแบบแยกไม่ออก
ประเด็นแรก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมชุดใหญ่ราวกับหมอจัดยา “ฟาวิพิราเวีย” ให้คนป่วยติดเชื้อโควิดกิจแก้โควิด
1. รื้อเกณฑ์กติกาการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดิหน้าได้
- สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs ได้รับการขยายเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมที่ 20 ล้านบาท และลูกหนี้เก่าได้สินเชื่อ 30% ของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน หรือสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมแค่ 30 ล้านบาท
- ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกัน สำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง หรือลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ลดอัตราจ่ายในช่วง 2 ปีแรกให้
2. ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565
- ขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เป็นไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ จากเดิมกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และไม่จำกัดจำนวนผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคล จากเดิมที่กำหนดผู้ให้สินเชื่อฯไม่เกิน 3 ราย ให้มีผลบังคับใช้ยาวถึง 31 ธ.ค.2565
- คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 5% ในปี 2565 จากเดิมให้ผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 8% ในปี 2565 และ 10% ในปีถัดไป
- ขยายเพดานวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็นไม่เกิน 40,000 บาท/ราย จากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท/ราย
- ขยายระยะเวลาการชำระคืนเป็นไม่เกิน 12 เดือน จากเดิมชำระคืนไม่เกิน 6 เดือน
3. ขยายเวลา ‘จัดชั้น-ตั้งกันสำรอง’ จูงใจให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่าน 3 -4 วิธี
- ให้สถาบันการเงินคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วได้ยาวจนถึง 31 มี.ค.2565 เพื่อเอื้อให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสม
- ใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่น ไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนให้สถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน เปิดทางให้เปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาวเปิดทางให้มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ลดภาระการผ่อนชำระให้ลูกหนี้
- ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยแก่ประชาชนได้
ทำไมเรื่องนี้สำคัญ เพราะ ธปท. ประเมินว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้รายได้ของแรงงานในช่วงปี 2563-2565 ลดลงมากกว่า 2.6 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับฐานรายได้ปี 2562 สภาวะแบบนี้เข้าสู่โหมดของความอัตคัตขัดสนแล้วครับ
เพราะอะไร เพราะขนาดจีดีประเทศไทยเดิมในปี 2562-2563 นั้นมีอยู่ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท ถ้าเงินหายไป 2.6 ล้านล้านบาท หมายถึงว่าความมั่งคั่งของเม็ดเงินในระบบที่หมุนเวียนกันในปีระเทศจะหดตัวเลหือเพียง 14.2 ล้านล้านบาทเท่านั้น
นี่จึงเป็นที่มาที่ ธปท.ประมินว่า ปี 2563 รายได้แรงงานลดลง 8 แสนล้านบาท
ปี 2564 รายได้แรงงานลดลง 1 ล้านล้านบาท
ปี 2565 รายได้แรงงานลดลง 8 แสนล้านบาท
เพราะธปท.ประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน (ทำไม่ถึง 4 ชม ต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคนในสิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน
จำนวนผู้ว่างงานระยะยาว หรือว่างงานเกิน 1 ปี อยู่ที่ 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว
ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้จบใหม่อยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน
ขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคบริการจากเมืองสู่ภาคเกษตร แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทำ แต่รายได้กลับลดลงอย่างมาก
และเมื่อมองไปข้างหน้าก็พบว่า สถานการณ์แบบนี้อาจจะยืดเยื้อยาวนานไปกว่าเดิมแน่นอน นั่นแสดงว่าคนตกงานจะเพิ่มขึ้นมหาศาล คนจนจะเกลื่อนเมือง คนเคยรวยจะกลับมาซูบเซียว ส่วนคนรวยที่อึดได้มากกว่า จะยิ่งรวยมากขึ้น นี่คือความจริงประเทศไทย
ประเด็นที่สอง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2564 แม้จะส่งสัญญาณแบบสุภาพบุรุษบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นว่า ในช่วงไตรมาส 2/2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% โดยเฉพาะในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.4% เนื่องจากแรงงานกลับภูมิลำเนา แต่การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง 2.2%
โดยอัตราการว่างงานไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/2564 ที่มีอัตราว่างงาน 1.96% โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน ส่วนแนวโน้มอัตราการว่างงานในไตรมาส 3/2564 ยังตอบไม่ได้ชัดเจน แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 24 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นแน่นอน
ประเด็นสำคัญคือ มาตรการควบคุมโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ 7.3 ล้านคน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ยังประกอบอาชีพได้ แต่ความกังวลของประชาชนทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รายได้จึงลดลง
ขณะที่ลูกจ้างในภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้มีเพียง 5.6 แสนคน หรือ 5.5% จากลูกจ้างทั้งหมด 10.2 ล้านคน
จะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้แรงงานเปราะบางเพิ่มขึ้น
ผลที่ตามมาอีกอย่างที่สะท้อนว่าคนกำลังเข้าตาจนคือ แรงงานต้องนำเงินที่เก็บออมไว้มาใช้มากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลยอดคงค้างเงินฝากต่อบัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 บาท ในเดือน มิ.ย.2564 ลดลงพรวดเดียว 4.14% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2562 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอันนี้แหละที่อันตราย
ตอนต้นเดือน คุณเศรษฐพุฒ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า ประเทศไทยกำลังเจอหลุมเศรษฐกิจสำคัญ เพราะสถานการณ์ตอนนี้คนมีเงินในบัญชีไม่เกิน 50,000 บาทนั้นลดลงในเดือนพฤษภาคมถึง 1.8% แต่ตอนนี้ลดพรวดพราดสะท้อนว่า คนตัวเล็กพวกเขากำลังลำบากมาก
แล้วคนมีบัญชีเงินฝากตำกว่า 50,000 ล้านบาทนั้นมีมากน้อยแค่ไหน?
ผมไปค้นข้อมูลเงินฝากจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในงวดเดือน พ.ค. 2564 จำนวนบัญชีเงินฝากที่ไม่เกิน 50,000 บาท มีทั้งหมด 95.3 ล้านบัญชี จากบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น 109.4 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินฝากรวม 435,222 ล้านบาท จากมูลค่าเงินฝากรวมทั้งสิ้น 15.9 ล้านล้านบาท
เห็นมั่ยละครับ ตอนนี้คนจนกันทั้งเมือง
แล้วสถานะแบบนี้ใช้เวลากี่ปีไทยจะกลับคืนมาเหมือนเดิม ถ้าขนาดเศรษฐกิจเหลือ 14.2 ล้านล้านบาท ต่อให้รัฐบาลทำงานดีทำให้เศรษฐกิจดี คนกินดีอยู่ดีจีดีพีเติบโตได้ปีละ 5% ติดต่อกันเป็นเวลายาว 3 ปี สิ้นปี 2567 ขนาดจีดีพีประเทศไทยดีสุดก็ตกประมาณ 16.2-16.4 ล้านล้านบาท ยังไม่เท่ากับขนาดของจีดีพีที่สะท้อนความมั่งคั่งของคนไทยในปี 2562-2563 เลยครับ
จน เครียด ...ครับพี่น้อง!