สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่าง สงครามอเมริกัน-อัฟกานิสถาน และ สงครามอเมริกัน-เวียดนาม

20 ส.ค. 2564 | 13:36 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 20:36 น.
534

สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างสงครามอเมริกัน-อัฟกานิสถาน และ สงครามอเมริกัน-เวียดนาม : คอลัมน์บทความ โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,707 หน้า 5 วันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2564

สงครามอเมริกัน-อัฟกานิสถานที่เริ่มต้นจากปฏิบัติการ Freedom’s Sentinel ในวันที่ 7 ตุลาคม 2001 เพื่อตอบโต้การโจมตีโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายในจุดศูนย์กลางทางการเมือง การทหารและเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2001 (เหตุการณ์ 9/11) ถึงวันที่กรุงคาบูลแตก โดยการเข้ายึดครองของกลุ่ม Taliban ในวันที่ 15 สิงหาคม 2021 

 

มีหลายๆ ประเด็นที่สามารถเทียบเคียงได้กับ สงครามอเมริกัน-เวียดนาม ที่เริ่มต้นในวันที่ 1  พฤศจิกายน 1955 ที่สหรัฐฯเข้าไปแทรกแซง สถาปนาสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ ด้วยความหวาดระแวงการขยายตัวของแนวคิดคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคจนถึงวันที่กรุงไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้แตก โดยการเข้ายึดครองของกลุ่ม Vietminh และ Vietcong ในวันที่ 30 เมษายน 1975 

 

ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา, ระยะเวลาของสงครามที่ต่อเนื่องยาวนาน (19 ปี 10 เดือนในอัฟกานิสถาน กับ 19 ปี 6 เดือน ในเวียดนาม), ภาพประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนแสนสาหัสตลอดระยะเวลาของสงคราม, ภาพการเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐในนาทีสุดท้ายโดยทิ้งพันธมิตรให้โดดเดี่ยวอยู่เบื้องหลัง

 

ภาพของการถอนทหารสหรัฐออกจากพื้นที่ก่อนที่ความล่มสลายจะเกิดขึ้น, ภาพนักการเมืองฉ้อฉลคอร์รัปชันที่กัดกินทั้งอัฟกานิสถาน และเวียดนาม, ภาพผู้นำที่หนีตายออกนอกประเทศพร้อมเงินก้อนโตโดยทิ้งประชาชนไว้เบื้องหลัง, ภาพคนแห่ถอนเงินจากธนาคารจนระบบสถาบันการเงินล่มสลาย

 

 ภาพคนต่อคิวเพื่อขอวีซาหน้าสถานทูตสหรัฐ, ภาพเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่บินออกจากสถานทูต และทิ้งคนอีกจำนวนมากไว้เบื้องหลัง, ภาพผู้คนจำนวนมากหอบลูกจูงหลาน หิ้วทรัพย์สมบัติที่พอจะหอบหิ้วไปได้ และหนีไปยังชายแดน 

 

ผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากสงคราม (กรณีอัฟกานิสถาน มีผู้เสียชีวิตจากสงครามขั้นตํ่า 212,191 ราย กรณีเวียดนาม มีผู้เสียชีวิต 1,326,494-3,447,494 ราย) และเงินงบประมาณมหาศาลในการทำสงคราม(กรณีอัฟกานิสถาน สหรัฐเสียงบฯ ไปแล้ว 2,261 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯและในระยะยาวจะเพิ่มเป็น 4-6 ล้านล้านดอลลาร์ กรณีเวียดนาม เมื่อคิดกลับเป็นค่าเงิน ณ ปัจจุบัน สหรัฐใช้งบประมาณในการทำสงครามไป 1.02 ล้านล้านดอลลาร์)

 

แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างสงครามอเมริกัน-อัฟกานิสถาน และสงครามอเมริกัน-เวียดนาม มีอย่างน้อย 2 ประการคือ

 

ประการแรก กองทัพเวียดนามใต้ ถึงแม้จะถูกโดดเดี่ยวโดยสหรัฐ แต่พวกเขาก็ยังคงสู้รบต่อไป ด้วยความกล้าหาญ ด้วยจิตใจที่ต้องการรักษาบ้านเกิด ต้องการรักษาวิถีชีวิตของพวกเขา ที่พวกเขาเชื่อและมุ่งมั่นอย่างสนิทใจว่า หากฝ่ายเหนือซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ยึดฝ่ายใต้ได้ พวกเขาจะสูญเสียทุกอย่าง 

 

สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่าง  สงครามอเมริกัน-อัฟกานิสถาน และ สงครามอเมริกัน-เวียดนาม

 

ดังนั้นพวกเขาจึงลุกขึ้นมาสู้สู้จนกระสุนหมด จนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐทิ้งไว้มันใช้ไม่ได้แล้ว เหตุการณ์ The Fall of Saigon จึงเกิดขึ้น แต่นั่นก็หลังจากที่สหรัฐถอดใจ ยอมแพ้ไปก่อนหน้านั้นถึง 18 เดือน (สหรัฐและพันธมิตร NATO เริ่มกระบวนการถอนทหารในปี 1973 และไซง่อนแตกใน ปี 1975) 

 

ในขณะที่สำหรับ กองทัพอัฟกานิสถาน พวกเขาก็มีสิ่งที่ต้องปกป้อง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการนับถือศาสนา วิถีชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ สิทธิสตรี ที่ภรรยาและลูกสาวของพวกเขา จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติตามมาตรฐานของคนอื่นๆ ในประเทศ อื่นๆ ในโลก 

 

หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเห็นทหารของกองทัพอัฟกานิสถานถอดใจ ไม่คิดต่อสู้ ในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากที่สหรัฐถอนกำลังทหารออกไปอย่างเงียบๆ จากสนามบิน Bagram Airfield ซึ่งเป็นฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถานในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2021 เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น เราเห็นภาพกองกำลัง Taliban สามารถยึดครองพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้เกือบทั้งหมด

 

ประการที่ 2 อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกันของสงครามทั้ง 2 ครั้ง คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมของประเทศไทย ในสงครามเวียดนาม ป.พิบูลสงคราม เพียงเพื่อความต้องการส่วนตัวของเขาที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ เพื่อเข้ามาคานอำนาจกับกลุ่มการเมืองภายในประเทศ และจะทำให้เขายังคงอยู่ในอำนาจได้ต่อไป เขาเอาใจสหรัฐโดยการออกคำสั่งในลักษณะเผด็จการให้ประเทศไทย ยอมรับรองรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Ngo Dinh Diem ของเวียดนามใต้ ซึ่งเป็น Nominee ของสหรัฐ 

 

ทั้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีร่วม ครม.อีกอย่างน้อย 6 คน คัดค้าน เพราะพิจารณาว่า การทำแบบนั้นจะเป็นผลเสียกับประเทศมากกว่าเป็นผลดี โดยเหตุผลสนับสนุนคือ จะทำให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายที่สวนทางกับสหประชาชาติในการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมจะเป็นการสร้างความ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยกลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม 

 

และกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า หากฝ่ายเวียดนามเหนือที่โฮจิมินห์เป็นผู้นำเป็นฝ่ายชนะในสงครามนั่นหมายความว่า ไทยกำลังจะสุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมชักศึกเข้าบ้าน โดยป.พิบูลสงคราม ให้เหตุผลว่าต้องสนับสนุนฝ่ายสหรัฐ เพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ(ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการลงมติดังกล่าวเกิดขึ้นในทศวรรษ 1950 ในขณะที่วันเสียงปืนแตก ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประกาศเริ่มต้นสงครามกับรัฐไทยเกิดขึ้นในปี 1965 หรือในอีก 1 ทศวรรษต่อมา)

 

และการเข้าร่วมในสงครามอเมริกัน-เวียดนาม ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจโดยรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เหตุการณ์ที่เป็นอนุกรมต่อเนื่องอีกมากมาย ไม่ว่าการอนุญาตให้กองทัพสหรัฐเข้ามาใช้ฐานทัพในประเทศไทย เพื่อไปถล่มเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา และเวียดนาม การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใต้ดินในประเทศไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าของเถื่อนและโสเภณี ความสุ่มเสี่ยงที่ไทยจะถูกรุกรานจากกองทัพเวียดนามหลังสงครามเวียดนามจบลง 

 

การที่ไทยต้องถูกบีบให้ไปสนับสนุนกลุ่มเขมรแดง ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนกัมพูชาจำนวนมหาศาล ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่รั้วติดกัน จนคนบางรุ่นในประเทศเพื่อนบ้านฝังใจว่าคนไทยคือศัตรู ฯลฯ

 

ถือเป็นความถูกต้องอย่างยิ่งแล้ว ที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และหากไปพิจารณาดูในรายชื่อของ 40 ประเทศ ที่เป็นกองกำลังและสนับสนุนการเข้าไปทำสงครามของอเมริกาในอัฟกานิสถาน เราจะไม่เห็นชื่อของประเทศไทย อยู่ในนั้น มิฉะนั้นเราไม่รู้หรอกว่า หายนะอะไรจะเกิดขึ้นตามมาบ้าง