ทางออกประเทศไทย ในวิกฤติโควิดกลายพันธุ์

22 ก.ค. 2564 | 13:18 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 20:18 น.

ทางออกประเทศไทย ในวิกฤติโควิดกลายพันธุ์ : บทความ โดย ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล และ ตระการ ไตรพิเชียรสุข หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,698 หน้า 10 วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2564

ทุกประเทศทั่วโลกขณะนี้ต่างต้องการเปิดประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้อยู่ในภาวะปกติ แต่แม้สหรัฐฯ และ อังกฤษ  ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรในสัดส่วนสูงที่สุดในโลก ก็มียอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสูงหรือไม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

กระทั่งมีการพิจารณาเพิ่มมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และมีนักวิชาการออกมาโต้เถียง แสดงความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการเพิกถอน เพิ่มเติม มาตรการ lock down และมาตรการฉีดวัคซีนสูตรเฉพาะเพิ่มเติม เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ และแม้แต่ประเทศจีนซึ่งมีมาตรการควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวด เช่น การปิดเมืองตรวจเชื้อ และการใช้เทคโนโลยีลํ้าสมัยเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของประชากรก็ยังพิจารณาไม่เปิดประเทศ 

 

จึงเห็นได้ว่าประเทศมหาอำนาจแม้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรในสัดส่วนที่สูง หรือ ควบคุมความเคลื่อนไหวในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่สามารถเปิดประเทศตามปกติได้ และต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ (QE) และใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นลำพังการระดมฉีดวัคซีน หรือใช้มาตรการควบคุมทางสังคมที่เฉียบขาด จึงไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเปิดประเทศ ไทยโดยมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในวงกว้างตํ่าอย่างยั่งยืน

 

ขณะนี้การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแพร่กระจายเข้าสู่สังคมทุกภาคส่วน ทำให้การตรวจสอบเชื้อทั้งเชิงรุกและเชิงรับในระดับปัจจุบัน (ประมาณ 15,000-20,000 รายต่อวัน) ไม่มีผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม 

 

อุปมา เช่น ไฟไหม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ใช้นํ้าจำนวนน้อยเพื่อดับ ไม่เพียงแต่ดับไฟไม่ได้ แต่ทำให้ไม่ได้มุ่งสนใจวิธีดับไฟส่วนมากที่ลุกลามไปอีก ถึงแม้จะทำการตรวจเชื้อเป็นจำนวนมากในขณะนี้หากตรวจผลว่าเป็นลบ โดยไม่มีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด ก็อาจกลับเป็นบวกได้ 

 

และหากตรวจผลเป็นบวก ก็ไม่มีความพร้อมทางสาธารณสุขรองรับ (แต่ในภาวการณ์ทั่วไป การตรวจเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มเสี่ยง หรือ การสุ่มตรวจโดยมีระเบียบวิธีทางสถิติ แม้จำนวนไม่มาก ย่อมมีผลสัมฤทธิ์ทางนโยบาย การวางแผน และปฎิบัติการ)

 

ดังนั้นการแก้ไขวิกฤติเฉพาะหน้านี้จึงควรใช้การ lock down ที่เข้มงวด (ควร พิจารณากรณีศึกษาในต่างประเทศ เช่นประเทศจีน และ เวียดนาม ประกอบ) ดัดแปลงสนามกีฬา และค่ายทหาร ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม และให้หน่วยงาน (พยาบาล) ทหารระดมทรัพยากรเข้าช่วยเหลือภาคพลเรือนทุกภาคส่วน 

 

และจัดให้มีการเยียวยาประชาชนอย่างรวดเร็วทั่วถึง โดยใช้ digital domestic QE บังคับใช้เทคโนโลยีที่ช่วยประชาชนในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ และสามารถดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจพร้อมกันได้ เช่น “หมอชนะ” อย่างทั่วถึงโปร่งใส เพื่อลดจำนวนและรักษาผู้ติดเชื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นโดยเร็วที่สุด

 

การแก้ปัญหาในระยะกลางจำเป็นต้องให้ประชาชน มีส่วนร่วมด้วยการให้ประชาชน วิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชนปลูกยาสมุนไพรในพื้นที่ โดยเน้นการปลูกและแปรรูป เพื่อใช้รักษาไข้โควิดในระยะเริ่มต้นและกลางได้เองในทุกชุมชน อันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และลดจำนวนผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้

 

ทางออกในระยะยาวเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างยั่งยืน คือ การสร้างเครือข่ายการผลิต และวิจัยพัฒนายาไทย และวัคซีนไทย ซึ่งเชื่อมโยงองค์กรวิจัยภาครัฐและเอกชนของไทยกับองค์กรและหน่วยงานวิจัยนานาชาติ เพื่อพัฒนายาและวัคซีนให้ทันกับการกลายพันธุ์ และดื้อยา/วัคซีนของไวรัสโคโรน่าในระยะ 1-3 ปีข้างหน้านี้ 

 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เช่น ประเทศชิลี หรือ กลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ประเทศมาเลเซียก็สามารถส่งตัวอย่างยาและวัคซีนของเราไป เพื่อวิจัยทดลองภาคสนามอย่างเร็วที่สุด และนำตัวอย่างเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการแพร่ระบาดมาทำการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมในกรณีที่เชื้อดื้อยาหรือวัคซีน 

 

ทางออกประเทศไทย ในวิกฤติโควิดกลายพันธุ์

 

มีการเเลกเปลี่ยนข้อมูลของสายพันธุ์ไวรัสและสูตรยาและวัคซีนที่ใช้ได้ผลระหว่างกัน (โดยมีลิขสิทธิ์ทางปัญญาร่วมกันในระยะเวลาที่ตกลง) และจัดให้มีโรงงานรองรับการผลิตยา หรือ วัคซีนใหม่แบบ quick response เพื่อที่ประเทศไทยและประชาชนได้มีเวลาเตรียมการตั้งรับและป้องกันการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่จากการเปิดประเทศ และการลักลอบเข้าประเทศแต่เนิ่นได้อย่างต่อเนื่องทันท่วงที โดยไม่ต้องอยู่ในวัฏจักรการรอคอยคิววัคซีนจากต่างประเทศ ในกรณีเกิดไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ที่ลดประสิทธิภาพของวัคซีนเดิมได้ 

 

ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรจัดงบประมาณพิเศษเร่งด่วน ในการยกระดับองค์การ และ โครงงานวิจัยเพื่อพัฒนาตำรับยาสมุนไพรไทยและวัคซีนไทย โดยในเบื้องต้น รัฐบาลควรสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรม กรมแพทย์แผนไทยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เร่งรัดนำ (ตำรับ) ยาสมุนไพรไทย เช่น ตรีผลาและ ยาห้าราก และตำรับยาอื่นๆ มาดำเนินการวิจัยองค์ประกอบของสารออกฤทธิ์ และทำการทดลองตามมาตรฐานระเบียบวิธีของแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อผ่านการอนุมัติโดย อย.โดยเร่งด่วน 

 

อีกทั้งเร่งดำเนินการจัดตั้ง หรือ ดัดแปลงโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนไทยอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งกระบวนการจัดตั้งโรงงานผลิตยาสมุนไพร และ วัคซีนไทย เปรียบได้กับนโยบาย Operation Warp Speed ของอดีตประธานาธิบดี  โดนัล ทรัมป์ ที่เร่งงานวิจัยพัฒนาวัคซีน และจัดตั้ง-ดัดแปลงโรงงานเพื่อผลิตเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการต้านไวรัส อีกทั้งให้ผ่านกระบวนการอนุมัติโดย องค์การอาหารและยา (อย.) สหรัฐ (FDA) อย่างรวดเร็ว 

 

หากประเทศไทยสามารถสร้างโรงงานผลิตวัคซีน และ ตัวยาสมุนไพรไทยรักษาไข้โควิดมาตรฐานสูงอันเป็นที่ยอมรับของนานาชาติได้ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกยารักษาโควิดเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาทได้ในห้วงวิกฤตินี้ และสามารถเปิดประเทศได้โดยรวดเร็วตามเป้าหมาย

 

การเพิ่มสมรรถนะของภาคประชาชนให้เรียนรู้ และสามารถแก้ปัญหาได้เองในระดับชุมชน และการยกระดับคุณภาพของเครือข่ายและองค์การวิจัยด้านอาหารและยาของประเทศ ให้เชื่อมต่อและร่วมดำเนินการกับองค์การวิจัยอาหารและยาทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสาธารณสุขเฉพาะหน้านี้ได้เท่านั้น ยังเป็นการวางพื้นฐานในการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค 5.0 เพื่อให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าและรุ่งเรืองในเวทีโลกในอนาคตอีกด้วย  

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเรียนเสนอให้คณะรัฐบาลได้ร่วมพิจารณากับเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมาตรการที่นำเสนอมาข้างต้นนี้โดยด่วนอันจะเป็นคุณูปการอย่างสูงต่อประเทศชาติ และเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความเดือดร้อนและภัยพิบัติ ทั้งในปัจจุบันนี้ และในอนาคตภายหน้า

 

อีกทั้งยังเป็นการตอบแทนและแสดงถึงสำนึกในพระกรุณาธิคุณของบรรพกษัตริย์ไทยที่กอบกู้และปกป้องรักษาแผ่นดินและพวกเราชาวไทยให้อยู่รอด เจริญก้าวหน้ามากระทั่งถึงทุกวันนี้