รัฐสอบตกบริหารจัดการ‘วัคซีน’ ทุ่มงบจัดหาตามเป้าหวังพลิกฟื้นศก.

19 ก.ค. 2564 | 03:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 18:29 น.
1.0 k

วงเสวนาเนชั่น ฟอรั่ม “วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย” กูรูแนะแผนเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทุ่มงบซื้อวัคซีนคุ้มค่ากว่าเยียวยายืดเยื้อ “เอกชน” ให้คะแนนติดลบ บริหารจัดการวัคซีน

การเปิดประเทศใน 120 วัน ยังเป็นสิ่งที่หลายคนกังวลว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิดเป็นวาระแห่งชาติ ต้องฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสหรือ 70% ของประชากรทั้งหมด เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ ยังต้องเผชิญปัญหากับวัคซีนที่ไม่เพียงพอ ยุทธศาสตร์วัคซีนโควิดแห่งชาติ จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่

เวทีสัมมนา NATION VIRTUAL FORUM : Thailand Survival Post Covid-19 ตอน วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย ระดมกูรูจากแวดวงต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น

วัคซีนต้องหลากหลาย
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แสดงความคิดเห็นว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใน 70% ของประชากรนั้นหมายถึง การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่การทยอยฉีดห่างกันจนกลุ่มที่ฉีดไปแล้วเริ่มมีภูมิต้านทานลด (คนกลุ่มนั้นก็จะไม่ไปอยู่ใน 70 % แล้ว)

 

ขณะที่อีกกลุ่มเพิ่งได้ฉีด เพิ่งสร้างภูมิต้านทาน ด้วยเหตุนี้ จึงย้ำมาตั้งแต่แรกว่า รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว แต่ข้อเท็จจริง นอกจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้ง่ายกว่า ไวกว่า ก็เป็นอีกตัวแปรที่ทำให้ต้องมีวัคซีนที่สร้างภูมิคุมกันไปได้อีกระดับ
 

“ยุทธศาสตร์วัคซีนของไทยควรต้องมีความหลากหลายของวัคซีนเพื่อรับมือโควิดสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก เพราะแต่ละคนอาจแพ้วัคซีนหรือมีอาการข้างเคียงต่อวัคซีนที่แตกต่างกัน จึงควรมีวัคซีนที่หลากหลายเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน ยิ่งมีหลายชนิด ยิ่งมาก ก็ยิ่งดีสำหรับการบริหารจัดการวัคซีน”
 

ขณะที่ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมเพราะเป็นการติดเชื้อของคนในบ้านหรือสมาชิกครอบครัวเดียวกันมากขึ้น การล็อกดาวน์ด้วยการงดเดินทางหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน จึงยังไม่อาจหยุดยั้งการแพร่เชื้ออย่างที่เคยเป็นมาในรอบแรกๆ ซึ่งการรับมือในเรื่องนี้ รัฐอาจต้องเร่งเพิ่มการตรวจเชื้อโควิดให้กับประชาชน ต้องทำให้การตรวจ Rapid Test สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

 

ดังนั้นมติของที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนความหลากหลายของชนิดวัคซีนเป็นเรื่องที่ดี มติของรัฐบาลที่จะจัดสรรวัคซีนต้านโควิดในปีหน้า (2565) 120 ล้านโดส นั้นครอบคลุมวัคซีนคุณภาพสูงทั้ง 3 ชนิด คือ mRNA , แบบโปรตีนซับยูนิต และไวรัลเวตเตอร์
 

“อยากให้เรามียุทธศาสตร์วัคซีนที่เป็นรูปธรรม อย่าทำให้คนสับสน ต้องทำให้เขามั่นใจ เม็ดเงินที่เรากู้มาเป็นภาระหนี้ของประเทศ ถ้ายืดเยื้อเราอาจต้องกู้เพิ่ม แต่การมีหนี้มากไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าห่วง ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่มีหนี้เป็นสัดส่วนของจีดีพีสูงมาก เพียงแต่เราต้องใช้ให้เงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ยังชี้ให้เห็นว่า การเร่งฉีดวัคซีนก็จะช่วยได้อีกทาง เพราะจะทำให้ชีวิตกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น เช่นกลับมาเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย กินอาหารนอกบ้าน ฯลฯ เป็นกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวโดยไม่ต้องรอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลต้องทำการเยียวยาเป็นระยะๆ เป็นช่วงๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทำควบคู่ไปกับเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเร็วที่สุด



“เศรษฐกิจของไทยพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ เราจึงเน้นคำว่า “เปิดประเทศ” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ถ้าอยากเห็นการเปิดประเทศใน 120 วัน ต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยประกอบกัน ต้องลดการติดเชื้อให้ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเร่งในเรื่องการฉีดวัคซีน และบริหารจัดการเรื่องการควบคุมโรคในพื้นที่ให้ดี เช่นการตรวจหาเชื้อและการคัดกรองคน เชื่อว่าภายใน 120 วันไทยน่าจะเปิดประเทศได้”

สรรหา 120 ล้านโดสปี 65
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “ถอดรหัส…วัคซีน” ว่า จากความคาดหวังเดิมของประเทศไทยคือจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสภายในปี 2564 นั้น แอสตร้าเซนเนก้าแจ้งว่า การส่งมอบวัคซีนยังสามารถทำได้ตามกำลังการผลิตที่มีซึ่งกำลังที่มี ณ วันนี้อยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น ไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนก็จะได้ 1 ใน 3 ของการผลิต
 

สำหรับแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด สำหรับประชาชนไทย ในปี 2565 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับประชาชนในปี 2565 เป็นจำนวนอีก 120 ล้านโดส ซึ่งเร่งรัดการเจรจาการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นสอง ที่สามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ (Variants of concern)

 

โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565 ในวัคซีนรูปแบบ mRNA, ไวรัลเวกเตอร์, ซับยูนิตโปรตีน และรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมถึงการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปีถัดไป และสำรองวัคซีนในกรณีที่เกิดการระบาด
 

นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจากไวรัสเวกเตอร์ เช่น Inactivated Platform หรือ mRNA Platform สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

 

รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 เช่น ประเทศอินเดีย

 

คืบหน้าผลิตวัคซีนไทย
แม้ไทยจะยังต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เดินหน้าพัฒนาวัคซีนเช่นกัน โดย รศ.ดร.วรัญญู 
พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CTO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตวัคซีนจากพืช กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า คาดว่าจะเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนภายในเดือนกรกฎาคมนี้

 

โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการยื่นเอกสารขออนุญาตจากอย. เพื่อทดสอบวัคซีนในมนุษย์ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำวัคซีนมาทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือนกันยายนนี้ โดยหากการทดสอบเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปี 2565 บริษัทน่าจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้คนไทยได้ใช้งานได้ และบริษัทยังได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนในเจเนอเรชั่นต่อไป เพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบกับสัตว์ทดลอง ซึ่งคาดว่าจะได้ผลการทดสอบภายในเดือนสิงหาคม
 

“ปัจจุบันบริษัทมียาและวัคซีนหลายชนิดที่อยู่ในแผนงาน โดยสามารถใช้โรงงานดังกล่าวสร้างต้นแบบเพื่อนำไปผลิต และทดสอบในมนุษย์ได้ เรียกว่าเป็นโรงงานที่สามารถช่วยสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้กับคนไทย หากไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงก็ยังสามารถใช้โรงงานดังกล่าวเป็นต้นแบบได้”

สอบตกจัดการ “วัคซีน”
ต่อคำถามที่ว่า “วัคซีน” จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่กลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สะท้อนให้ฟังว่า การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลว่า ให้คะแนนติดลบ เพราะคิดว่ารัฐบาลควรจะทำได้ดีกว่านี้ในการกระจายวัคซียไปยังประชาชน

 

ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร มีความหนักใจและเศร้าใจเพราะได้เห็นภาพผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่มีที่รักษาจำนวนมากดังนั้นบริษัทจึงมีแนวคิดที่จะทำอย่างไรช่วยเหลือประชาชน แม้ว่าบริจากเงิน หรือสิ่งของแต่ก็ไม่สามาถช่วยเข้าได้อย่างที่สุด จึงเป็นที่มาของโรงพยาบาลสนามที่โกดังสินค้าของบริษัทซึ่งมีพื้นที่ 10,000 ตร.ม. สามารถทำโรงพยาบาลสนามได้ 1,300 เตียง ที่สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้ป่วยทยอยเข้ามารับการรักษา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ บริษัทจึงเตรียมขยายโรงพยาบาลสนามอีกในพื้นที่ใกล้เคียงกันอีก 1,500 เตียง
 

“สิ่งที่เอกชนอยากฝากถึงรัฐบาล คือ ระบบการเลือกตั้ง หน้าที่ของท่านคือ คำนึงถึงชีวิตประชาชน ความเป็นอยู่ของประชาชน เอกชนอยากเห็นการทำงานที่เป็นทีม เพื่อชาติ เพื่อประชาชน โดยไม่มีอะไรแอบแฝง เอกชนเชื่อว่ารัฐบาลมีคณะที่ปรึกษาที่ดีๆ เก่งๆ หลายคน ซึ่งหากคนเหล่านี้ไม่เก่งไม่ดี ก็ปลดแล้วตั้งคนที่เก่งที่ดีมาทำงาน แล้วทุกคนจะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์หากสามารถแก้ปัญหานี้ได้แต่ถ้าไม่ได้หน้าประวัติศาสตร์ก็จะเปลี่ยนไป เอกชนอยากเห็นสิ่งดีๆสักครั้ง”
 

ขณะที่ นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้พัฒนาแพลทฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรี่ “โรบินฮู้ด” (Robinhood) ระบุว่า มิติของการบริหารวัคซีนนั้นอยากให้รัฐบาลกระจายวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนให้ได้มากขึ้นโดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะPain Point ประเทศไทยที่ต้องปรับตัว คือ ความร่วมมือกันทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนเสริม ซึ่งกันและกันได้

 

โดยรัฐต้องมีโฟกัสในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ไม่ว่า อาหาร เกษตร บริการท่องเที่ยวหรือโรงแรม ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมที่มีเครือข่ายธุรกิจและฐานรากอีกมาก จึงอยากเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมสำหรับพิมพ์เขียนที่มีอยู่แล้ว