มรสุมรอบด้าน ฉุดขีดความสามารถแข่งขัน

28 ม.ค. 2566 | 07:00 น.

บทบรรณาธิการ

สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยของปี 2566 เริ่มฉายภาพชัดขึ้น สะท้อนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลง จากความกังวลของนักลงทุนกังวลวิตกเกี่ยวกับสัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากปีก่อน

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ยังต้องเผชิญกับปัจจัยที่ท้าทาย จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.50 % ต่อปี และจะยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และ พฤษภาคม 2566 อีกครั้งละ 0.25% และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ และจะส่งผลให้บรรดาธนาคารต่างๆ ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปตาม กระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ และภาระค่าครองชีพของประชาชน

ประกอบกับต้นทุนด้านพลังงาน อย่าง ค่าไฟฟ้า ของภาคธุรกิจ ที่จะยังปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งปี จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย จะเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิต หรือ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนการผลิตสินค้าไปยังผู้บริโภค หมายความว่า ราคาสินค้าหลังจากนี้ไปมีแนวโน้มที่จะขึ้นราคาอีกได้ และจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ซึ่งยังไม่รวมถึงภาระค่าน้ำมันขายปลีกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

สะท้อนให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก จากราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทรงตัวในระดับสูง ยังมีความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นได้ จากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการท่ามกลางภาวะต้นทุนที่สูงรอบด้าน
อีกทั้ง การส่งออกได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จากการส่งออกสินค้าได้ลดลง มีการประเมินว่า การส่งออกปี 2566 จะขยายตัวได้ราว 1-2% จากปีก่อนเท่านั้น ยังถูกซ้ำเติมด้วยเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในแถวหน้าของเอเชีย จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกอีก

ภาคเอกชนออกมาเรียกร้อง หากจะให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ(จีดีพี) ในปีนี้ เป็นไปตามที่คาดหวังที่ 3-3.5% คงไม่สามารถพึ่งพระเอกหลักอย่างภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้อย่างเดียว จำเป็นต้องดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีการตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐ และภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เกิดอัตราการขยายตัวของ GDP ในพื้นที่อีอีซี เพิ่มขึ้น 6.8 %

หากภาครัฐดำเนินการได้ ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในมุมมองของภาคเอกชนเห็นว่า เป็นไปค่อนข้างยาก ในเมื่อประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการดึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศ

ขณะที่เวียดนาม มีแต้มต่อมากขึ้น จากความได้เปรียบค่าไฟฟ้า ที่จ่ายเพียงในอัตรา 2.50 บาท ต่อหน่วย บวกกับค่าแรงที่จ่ายต่ำกว่า หากไม่เร่งแก้ไขอาจจะทำให้ไทยเสียขีดความสามารถในการแข่งขันแบบถาวร และกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งคงต้องรอดูต่อไปว่า รัฐบาลจะแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร