ค่าแรงขั้นตํ่า กับ พลวัตของทุนนิยม ประวัติศาสตร์ นโยบาย เทคโนโลยี

11 ม.ค. 2566 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2566 | 19:47 น.

ค่าแรงขั้นตํ่า กับ พลวัตของทุนนิยม ประวัติศาสตร์ นโยบาย เทคโนโลยี : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.สิร นุกูลกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,852 หน้า 5 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2566

 

ขณะนี้ค่าแรงขั้นตํ่าเป็นเรื่องที่สาธารณะให้ความสนใจ จากการออกนโยบายของพรรคการ เมืองเนื่องจากการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และมีผู้วิจารณ์เอาไว้มากโดยหลายครั้งมองข้ามพลวัติการปรับตัวของทุนนิยม ที่สามารถสร้างเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้ระบบขยายออกไป บทความนี้จะพยายามอธิบายและทำความเข้าใจนโยบายค่าแรงขั้นตํ่าในแนวทางพลวัตของทุนนิยม ค่าแรงขั้นตํ่านั้นต้องถูกส่งเสริมด้วยการดำเนินนโยบายหลากหลายด้านซึ่งบังคับให้ทุนนั้นปรับตัวสร้างเทคโนโลยีที่เพิ่มผลผลิต

 

แรกเลยคือ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของค่าแรงขั้นตํ่านั้นไม่ใช่เป็นการให้เปล่าประชานิยมหรือเป็นสังคม สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส แต่เป็นนโยบายที่สร้างพลวัตต่อระบบทุนนิยม ค่าแรงขั้นตํ่านั้นที่จริงแล้วเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้ระบบทุนนิยมตลาดนั้นต้องปรับตัวเพื่อที่สร้างเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้นเพื่อผลกำไร 

 

 

ประวัติการดำเนินนโยบายของค่าแรงขั้นตํ่าอย่างได้ผลนั้น มีตัวอย่างในยุค นิวดีล New Deal ของอเมริกา ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Fair Labor Standard Act เป็นบัญญัติกฎหมายแรงงาน ที่กำหนดค่าแรงขั้นตํ่า  ระบุวันทำงานไว้ที่แปดชั่วโมง และบังคับให้การทำงานนอกเวลาแบบโอทีต้องจ่ายเงินหนึ่งเท่าครึ่ง

 

แถมยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่ยกระดับคุณภาพแรงงาน เช่น การควบคุมแรงงานเด็ก บัญญัตินี้เป็นตัวอย่างของกฎหมายแรงงานทั่วโลกที่ยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราจะเห็นว่ากฎหมายแรงงานไทยมีส่วนคล้ายคลึงและเมืองไทยเราก็ยกเอาบัญญัตินี้มาเป็นบรรทัดฐาน

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ที่นโยบายค่าแรงขั้นตํ่าและกฎหมายแรงงานนี้ได้ผล ก็เพราะการดำเนินนโยบายแบบรอบด้านของยุคสัญญาใหม่นิวดีล  ยุคนิวดีลนั้นเป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง มีการเปลี่ยน แปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและสงครามโลกครั้งที่สอง

 

มีการจำกัดอำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดอย่างจริงจังหลากหลายกรณี มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม มีบัญญัติควบคุมการเงินการธนาคาร แถมยังมีระบบสวัสดิการสำหรับประชาชนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมืองไทยเราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์นี้ในการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

 

โดยการดำเนินนโยบายอย่างรอบด้านนั้น บังคับให้ทุนเคลื่อนย้ายและปรับตัวเพื่อหากำไรในตลาด โดยการสร้างเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีผลลัพธ์ที่ทำให้ระบบส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน เกิดเป็นระบบที่ชนะกับชนะ (win-win)

 

โดยเทคโนโลยีที่เกิดมาจากกการสะสมทุนแบบนี้นั้น อยู่กึ่งกลางที่สร้างเพิ่มผลผลิตให้ทั้งทุนและแรงงานทั้งระบบ ทั้งทุนและแรงงานได้ประโยชน์จากการสะสมทุนที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในทฤษฎีการเติบโต และการกระจายรายได้เราเรียกว่า neutral technological progress

 

โดยระบบที่ชนะกับชนะ มีหลักฐานเป็นยุคทองของทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ดำเนินนโยบายรอบด้านแบบนิวดีล การเติบโตและกระจายรายได้แบบชนะกับชนะนั้น มาจากพลวัตของทุนนิยมที่ปรับตัวหาผลกำไรโดยการสร้างและคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยี

                                 ค่าแรงขั้นตํ่า กับ พลวัตของทุนนิยม ประวัติศาสตร์ นโยบาย เทคโนโลยี

 

เทคโนโลยีที่เกิดมาจากทั้งระบบเป็นการสะสมทุนและเลือกเฟ้นเทคนิคการผลิตที่สร้างผลกำไร (choice of technique/induced technological progress) เราอาจจะเปรียบการโยกย้ายสะสมทุนได้เหมือนม้าตัวหนึ่งที่เรากำลังควบคุม

 

โดยหากเราอยากให้ระบบเติบโตหรืออีกนัยยะ คือ การให้ม้าวิ่งไปข้างหน้า เราก็ต้องสร้างทั้งแรงจูงใจและระเบียบข้อบังคับ ม้านั้นจะวิ่งไปข้างหน้าด้วยแครอทและไม้เรียว (carrot and stick) ม้าเห็นแรงจูงใจจากแครอท และในขณะเดียวกันก็ถูกกวดด้วยไม้เรียวจากด้านหลัง

 

การสะสมทุนก็เช่นกัน การสร้างเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์นั้น ต้องมีทั้งแรงจูงใจและบทลงโทษ ยกตัวอย่างเช่น แรงจูงใจทางภาษีในการลงทุนอย่างยั่งยืน (environ- mental sustainable governance, ESG) การควบคุมการผูกขาดในตลาด การเก็บภาษีการเก็งกำไร การใช้นโยบายค่าแรงขั้นตํ่าและกฎหมายแรงงาน การปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้พลวัตของทุนนิยมในการปรับตัวให้การสะสมทุนเป็นแบบชนะกับชนะ 

 

หากไม่มีแรงจูงใจและบทลงโทษ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตก็จะไม่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วการสะสมทุนแบบกีดกันผูกขาดและเห็นแก่ตัว ที่เราเห็นในสังคมไทยทุกวันนี้ สามารถมองได้ว่าเป็นการสะสมทุนด้วยเทคโนโลยีถดถอย (bias technological progress) เป็นการสะสมทุนแบบแนวราบที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ หรือประสิทธิภาพในการผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

 

การสะสมทุนเป็นไปเพื่อการหากำไรโดยไม่ได้สร้างองค์ความรู้การผลิตที่แท้จริง กำไรที่ได้มานั้น มาจากการเอารัดเอาเปรียบจากทั้งแรงงานและสังคมส่วนรวม การผลิตแบบเทคโนโลยีถดถอยนั้น ทำให้ระบบขาดเสถียรภาพและก่อให้เกิดความเหลื่อมลํ้า

 

การสะสมทุนแบบในเมืองไทยเราที่ไม่มีข้อกำหนดและกฎเกณฑ์เป็นไม้เรียวนั้น จึงออกไปในแนวราบอย่างเดียว โดยที่ไม่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งมีความก้าวหน้าในการผลิต เป็นการสะสมทุนแบบถดถอย เมืองไทยจึงอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางเผชิญวิกฤตทางสังคมจนถึงทุกวันนี้

 

การดำเนินนโยบายรอบด้านที่เป็นทั้งแครอท และไม้เรียว จึงมีความจำเป็น และค่าแรงขั้นตํ่าก็เป็นส่วนหนึ่งในข้อกำหนดที่เป็นไม้เรียวนั้น นโยบายค่าแรงขั้นตํ่าเป็นตัวส่งเสริมพลวัตของทุนนิยมและระบบตลาดในระยะยาว

 

ทั้งนี้ พรรคการเมืองไม่อาจใช้ค่าแรงขั้นตํ่าเพื่อหวังผลประชานิยมในระยะสั้น หรือ มองค่าแรงขั้นตํ่าเป็นลักษณะของสังคมสงเคราะห์ หากการดำเนินนโยบายไม่ได้เป็นในลักษณะรอบด้านที่เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ให้เกิดพลวัตของทุนนิยม ประสิทธิผลของ ค่าแรงขั้นตํ่าก็อาจไม่ได้เป็นดังหวัง