‘#BookTok’ หนึ่งหนทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์

28 ส.ค. 2565 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2565 | 15:46 น.
794

ผู้นำวิสัยทัศน์ ธนภัทร ศรีบุญเรือง Corporate Communication Manager ของ IPG Mediabrands Thailand

ใครจะคิดว่า TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นสุดฮิตที่มีผู้ใช้งานในกลุ่ม Generation Z (อายุ 16-24 ปี) มากที่สุด จะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และทำยอดพิมพ์หนังสือเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านเล่มใน 1 ปี

 

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแส “#BookTok” ซึ่งเป็นแฮชแท็กรวมโพสต์ของผู้ใช้งานที่รีวิวและให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือที่มียอดคนดูสูงถึง 43,400 ล้านวิว เมื่อปี 2020 Chloe Gong เริ่มต้นโพสต์วิดีโอรีวิวหนังสือที่เขาชื่นชอบ รวมถึงหนังสือที่เขาเขียนขึ้นเองที่มีชื่อว่า “These Violent Delights” ซึ่งเป็นเรื่องราวเล่าขานของ Romeo และ Juliet ที่เกิดขึ้นในปี 1920 ในเซี่ยงไฮ้

‘#BookTok’ หนึ่งหนทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กระแส #BookTok บูมขึ้น ด้วยจุดเด่นของ TikTok ที่เป็นวิดีโอสั้นทำให้ครีเอเตอร์หรือผู้ใช้งานสามารถเล่าเรื่องราวของหนังสือได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม จนคนแห่กันไปซื้อหนังสือมาอ่านตามกันบ้าง ทำให้เหล่านักเขียน

 

รวมถึงผู้จัดจำหน่ายหนังสือทั้งรายใหญ่และรายย่อยเริ่มมียอดขายมากขึ้น จนต้องจัดชั้นวางหนังสือที่ถูกแนะนำจาก #BookTok รวมไปถึงหน้าเว็บไซต์ที่แยกประเภทหนังสือ #BookTok โดยเฉพาะ เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการเข้าถึงและสั่งซื้อ ส่งผลให้ยอดขายหนังสือเพิ่มสูงขึ้นทั้งหนังสือเก่าและใหม่

              

การรายงานของ NPD Bookscan อุตสาหกรรมการพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือ สามารถพิมพ์หนังสือได้มากถึง 8.25 ร้อยล้านเล่มในปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7.58 ร้อยล้านเล่มในปี 2020 และนวนิยายยังคงเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุด Kristen McLean กรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ NPD กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เห็น Social Media ส่งผลกับอุตสาหกรรมหนังสือขนาดนี้ ถ้าไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอาจจะไม่สนใจหันมาอ่านหนังสือมากขนาดนี้”

              

ในยุคดิจิทัลเราจะเห็นเทคโนโลยีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ที่เริ่มเข้ามาแทนที่หนังสือเพื่อความง่ายต่อการเข้าถึงและการพกพา แต่ด้วยข้อเสียของการมองจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลานานทำให้สายตาเหนื่อยล้า อาจทำให้ใครหลายคนหวนนึกถึงสัมผัสของกระดาษ (Back to Basic)

              

แม้ก่อนหน้านี้บน Instagram จะมี “#BookStagram” ที่ปัจจุบันมีจำนวนโพสต์เกี่ยวกับหนังสือถึง 74 ล้านโพสต์ แต่คนกลับรู้สึกว่า #BookStagram เน้นที่การจัดฉาก องค์ประกอบภาพ และความสวยงามเป็นหลัก ในขณะที่รู้สึกว่า #BookTok เข้าถึงได้ง่ายกว่า สามารถมีส่วนร่วมผ่านการสร้างวิดีโอตอบกลับด้วยฟีเจอร์ Duet ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นสังคมของการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า

              

จากยอดขายหนังสือที่เพิ่มขึ้นทำให้ TikTok ขึ้นแท่นเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีอิทธิพลมากขึ้น อาจเป็นโอกาสดีของธุรกิจสำนักพิมพ์ที่จะสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ รีวิวหนังสือผ่านการร่วมมือกับเหล่าครีเอเตอร์ และพัฒนาประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless Shopping Experience)

 

หรือจะเข้าร่วมกับบริการที่เพิ่งปล่อยมาล่าสุดอย่าง “TikTok Shop” ที่ช่วยปิดการขายได้ง่ายและจบภายในแอปพลิเคชันเดียว ถือเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างยอดขาย และอาจเป็นหนทางต่อลมหายใจให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ ทางฝั่งของประเทศไทยก็เริ่มมีผู้ใช้งานลงรีวิวหนังสือใน #BookTok บ้างแล้ว คาดว่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์อาจกลับมาคึกคักมากขึ้นในปีนี้

 

อ้างอิง:https://www.fastcompany.com/90722994/how-book- lovers-on-tiktok-are-changing-the-publishing-industry?fbclid= IwAR1ECGvLQDkIPOjA5hbcJGwK05g0swIoXMCk4j5xqVeQAMMk-yjTOXRS9A8

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,812 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2565